0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ไปกันมารึยัง ? อุทยานราชภักดิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์กษัตริย์ไทย 7 พระองค์ที่หัวหิน

calendar_month 30 ก.ย. 2015 / stylus Admin Chillpainai / visibility 16,743 / ข่าวท่องเที่ยว

ไปกันมารึยัง ? อุทยานราชภักดิ์

พระบรมราชานุสาวรีย์กษัตริย์ไทย 7 พระองค์ที่หัวหิน

       คงจะพอคุ้นหูเรื่องข่าวการจัดสร้างและพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์กันมาบ้างพอสมควรแล้ว อย่างนั้นมาลองทำความรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่นี้กันให้มากขึ้นอีกหน่อยดีกว่า เผื่อใครผ่านไปผ่านมาจะได้มีโอกาสแวะเข้าไปเที่ยวดูความยิ่งใหญ่อลังการนี้...
 
       อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็น 
"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ ได้แก่ 

1. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
2. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
3. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)


       โดยดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ภายในพื้นที่ของกองทัพบก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้พื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 222 ไร่เศษ ซึ่งองค์ประกอบภาพรวมของอุทยานราชภักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักที่สำคัญ ได้แก่

ส่วนที่ 1 : พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน 7 พระองค์


ส่วนที่ 2 : ลานอเนกประสงค์ใช้สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพ และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ

ส่วนที่ 3 : อาคารพิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยการค้นคว้า รวบรวม และจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะดำเนินการจัดสร้างบริเวณด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์

       ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือจำนวน 126 ไร่ จะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก

จุดสังเกต :

อุทยานราชภักดิ์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสวนสนประดิพัทธิ์ 
ติดกับโรงเรียนนายสิบทหารบก

24


เรียบเรียงโดย ชิลไปไหน

ข้อมูลและภาพจาก rta.mi.th, FB อุทยานราชภักดิ์



 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai