calendar_month 14 ก.ค. 2015 / stylus Admin Chillpainai / visibility 74,433 / เที่ยวต่างประเทศ
วันนี้ชิลไปไหน ขอหยิบรีวิวดีๆ จากสมาชิกพันทิปคุณ 9th กับรีวิวทริปเที่ยว
"แ ส ง เ ห นื อ . . . ที่ ไ อ ซ์ แ ล น ด์" ที่มาพร้อมกับขั้นตอนการถ่ายภาพ และวิธีที่จะทำให้คุณได้พบกับแสงเหนือ... ถ้าพร้อมแล้วเราไปชมภาพสวยๆ พร้อมรีวิวดีๆ กันเลยกับ
[รีวิว] ท ริ ป แ ส ง เ ห นื อ . . ที่ ไ อ ซ์ แ ล น ด์
ส วั ส ดี ทุ ก ๆ ท่ า น ค รั บ
เนื่องจากเริ่มเข้าฤดูกาลล่าแสงเหนืออีกแล้ว ผมจึงขอมารีวิวอะไรสั้นๆ ซักเล็กน้อย จากที่ได้ไปสัมผัสมาเพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจ แก่ผู้ที่มีแพลนจะไปล่าแสงเหนือเร็วๆ นี้หรือในอนาคตนะครับ ตัวผมเองไปล่าแสงเหนือมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี 2556 ที่ประเทศ ไอซ์แลนด์ ไปมาทั้งสิ้น 9 วัน 8 คืน เห็นแสงทั้งหมด 4 วัน
ในกระทู้นี้ผมขออนุญาตพูดถึงแค่ว่า จะสามารถเห็นได้อย่างไร ของจริงเป็นเช่นไร และจะถ่ายมันยังไง? ตามแบบฉบับของผมเองนะครับ ส่วนเรื่องที่ว่า แสงเหนือคืออะไรนั้น ผมขอไม่พูดถึงนะครับ เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยอ่านกันมาบ้างแล้ว และก็สามารถหาอ่านได้จากหลายๆ Sources เลย ที่สำคัญ ผมเองไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านนี้ซะด้วย เกรงว่าจะให้ข้อมูลผิดๆ แก่ท่านทั้งหลาย
กล้องที่ใช้บันทึกภาพคือ Canon 5D MarkIII และ 1DX ครับ
ในกระทู้นี้ ผมจะขอลงเฉพาะภาพแสงเหนือเท่านั้นนะครับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามชมภาพจากการเดินทางอื่นๆ ได้ที่
" www.chalermkiat.com "
ยิ น ดี ต อ บ ทุ ก คำ ถ า ม ค รั บ
จ ะ เ ห็ น มั น ไ ด้ ยั ง ไ ง ?
แนะนำให้พึ่งสิ่งศักดิ์ศิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือก่อนการเดินทางครับ ฮ่าๆๆ ล้อเล่นนะครับ เท่าที่ทราบมา ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการดูแสงเหนือคือปลายเดือนกันยายนไปจนถึงต้นๆ เดือนเมษายน และจะดีที่สุด ถ้าท่านสามารถเดินทางไปตอนเดือนมืดได้ โดยเช็คจากเว็บไซต์ด้านล่างนี้ครับ http://www.moonconnection.com/moon_phases_calendar.phtml
ผมจะคอยเช็คระดับความแรงของแสงที่ Active อยู่ตลอดจาก http://www.solarham.net
เมื่อท่านเข้าเว็บนี้ไปแล้ว ท่านจะพบกับกราฟ ตัวเลข และอะไรอีกมากมาย ขอให้ท่านอย่าตกใจไปครับ โฟกัสไปที่กราฟ K-Index ที่อยู่ทางด้านขวาของท่าน พอท่านคลิกตรงกราฟ K-Index สิ่งที่อยู่ตรงหน้าท่านคือ กราฟแสดงถึงความแรงของแสงที่ Active อยู่ ในทุกๆ 3 ชั่วโมง
ดังนั้น ท่านต้องคอยอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เตรียมตัวหาโลเคชั่นเด็ดๆได้ทันท่วงที
ระดับที่เหมาะแก่การถ่ายภาพคือ Kp 2 เป็นต้นไป ถ้ากราฟแสดง Kp 4 ขึ้นไป ขอให้ท่านรู้ไว้เลยว่า ท่านคือผู้โชคดี! ยิ่งถ้าเจอ Kp6 หรือสูงกว่านั้น ผมขอแสดงความยินกับทุกๆ ท่านอย่างสุดซึ้ง...
เท่านั้นยังไม่พอ!
ท่านจะต้องเช็คด้วย ว่าพื้นที่ไหนในขณะนั้น ฟ้าเปิดให้ท่านได้ยลแสงเหนือกันบ้าง?
ท่านจึงต้องพึ่ง 2 เว็บนี้ครับ
http://www.yr.no/place/Iceland/
http://en.vedur.is/weather/forecasts/cloudcover/
อาจจะมีเว็บอื่นอีกหลายเว็บนะครับ แต่จากประสบการณ์ ผมยกให้ 2 เว็บนี้เป็นพยากรณ์ที่ค่อนข้างแม่นครับ แต่ไม่ 100% แต่อยู่ในระดับที่เชื่อถือได้ที่สุดครับ
จากประสบการณ์ที่ผมได้เห็นมา 4 คืนนั้น เรียกได้ว่าแรงเกือบทุกคืนครับ ของจริงมันจะเป็นสีเขียวอ่อนๆ กว่าในภาพครับ บางคืนถ้าแสงเบามากๆ ก็อาจจะเห็นเป็นสีขาวๆ ครับ แต่ก็จะพอทราบได้นะครับ ว่ามันคือแสงเหนือ เพราะมันจะเป็นริ้วๆ เคลื่อนไหวไปๆ มาๆ ต่างจากการเคลื่อนไหวของเมฆครับ เรียกได้ว่าสังเกตกันได้ไม่ยากครับ
บางท่านอาจโชคดีได้เจอกับ Kp สูงๆ ก็อาจจะเห็นเป็นสีเขียวได้ชัดเจน แต่ผมเองไม่เคยเจอแสงแรงขนาดนั้นครับ ดังนั้นคืนไหนที่ฟ้าเปิดๆ ท่านขับรถผ่านที่ไหนหรืออยู่ที่ไหนลองแหงนมองฟ้าบ่อยๆ แล้วลองยกกล้องขึ้นถ่ายดูเรื่อยๆ ครับ บางทีขาวๆบนฟ้าที่ท่านเห็น อาจจะไม่ใช่เมฆ...ก็ เ ป็ น ไ ด้ ~
ผมมีเทคนิคการเช็คแสงเหนือง่ายๆ และรวดเร็วมาฝากครับ และสามารถถ่ายขณะที่ท่านนั่งอยู่บนรถที่วิ่งอยู่ได้ นั่นก็คือ . .
“ ให้ใช้เลนส์ที่กว้างที่สุดที่ท่านมี ปรับไปที่ 2 วิ พร้อมเปิด ISO ซัก 6400 แล้วยกถ่ายเลยครับ ถ่ายให้ทุกมุมรอบตัวท่าน รวมถึงบนศีรษะของท่าน ถ้าภาพหลังจอไม่มีสีเขียว ก็แสดงว่ายังไม่มีแสงระเบิดครับ "
มาถึงวิธีการถ่ายกันบ้าง ซึ่งไม่ยากเลยครับ
ผมเชื่อว่าหลายท่านทราบกันดีอยู่แล้ว กับการถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืน ถ่ายทางช้างเผือก ถ่ายดาว ซึ่งใช้หลักคล้ายๆ กันครับคร่าวๆ คือการเปิด F ที่ 2.8 หรือกว้างกว่านี้ก็ได้ ถ้าท่านสามารถ ISO ส่วนมากผมจะปรับไปที่ 1600 และ 3200 ส่วน Speed shutter ผมไม่สามารถบอกได้ว่าท่านต้องเปิดหน้ากล้องนานเท่าไร เพราะมันขึ้นอยู่กับความสว่าง และความแรงของแสงในขณะนั้น
ดังนั้น ท่านต้องคำนวนหน้างานกันเอาเองนะครับ ว่าท่านควรเปิดหน้ากล้องนานเท่าไร
ถ้าจะให้ดี
พยายามอยู่ห่างจากเมืองเอาไว้ครับ เพราะจะทำให้ฟ้ามืดสนิท เห็นความเคลื่อนไหวบนท้องฟ้าได้ง่ายกว่าในเมืองครับ
เลนส์ที่แนะนำควรเป็นเลนส์ประเภท Wide หรือ Fisheye ได้ยิ่งดีครับ เพราะบางที Fisheye ก็ยังเก็บไม่หมดเลยครับและตอนนั้นผมก็ไม่มีเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้และรอวันแก้แค้นครับ >,<
คือเวลามันเกิดทีนึง มันมาทั่วทั้งฟ้าเลยครับ ถ้าท่านมีแต่เลนส์แคบๆ เกรงว่าท่านจะเก็บบรรยากาศมาได้เพียงน้อยนิด และดูไม่อลังการ
ขอทุกท่านจงพึงระลึกไว้เสมอนะครับว่า ยิ่งท่านต่อสู้กับความง่วงยามค่ำคืนได้มากเท่าไร ท่านก็จะมีโอกาสได้พบกับแสงเหนือมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะมาตอนกี่โมง จากประสบการณ์ บางทีก็มาตอนเที่ยงคืน บางทีก็ตี 3 บางที 3 ทุ่ม บางคืน มา 2 3 รอบก็มี บางทีมาให้เห็นแค่แปปเดียวก็มี ดังนั้น เมื่อท่านเห็นแล้ว อย่าลังเลที่จะหาโลเคชั่นสวยๆ จนเสียเวลาถ่าย เจออะไรเข้าตาแถวๆ นั้น ก็ลองจัดคอมโพสถ่ายเลยดีกว่าครับ มันจะหายไปเมื่อไหร่ เราไม่สามารถรู้ได้เลยจริงๆ
ถ้าท่านอยากได้ฉากหน้าสวยๆ ที่ไหน ท่านจงขับรถไปรอเลยครับ ถ้าเผื่อว่าคืนนั้นแสง Active และฟ้าเปิดนะครับ และจงคำนวนเวลาให้ดี เพราะหน้าหนาวถนนจะขับยากกว่าปกติ ถนนส่วนมากจะลื่นครับ จึงทำความเร็วไม่ได้มากนัก
วันสองวันแรกท่านอาจจะยังไม่เจอกับแสงเหนือ แต่ขอให้ท่านอย่าเพิ่งถอดใจ วันที่สามท่านอาจจะพบกับแสงระดับ Kp 7 ก็ได้ เพราะตอนที่ผมไป สองวันแรกผมเริ่มจะถอดใจแล้ว เพราะไม่มีวี่แววจริงๆ จนมาวันที่สาม เราก็ได้เจอกัน ผมเชื่อนะครับว่าทุกๆท่านต้องมีโอกาสได้เจอกับมันเหมือนกับผมแน่นอน ขอให้ทุกท่านโชคดี ได้เจอแสงเหนือเหมือนกับผมนะครับ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น จะมีประโยชน์กับทุกท่านๆที่ได้เข้ามารับชมไม่มากก็น้อย
อย่าลืมนะครับ
“ จงมีความสุขกับการหาประสบการณ์ไหม่ของชีวิต
จากสิ่งที่โลกสร้างให้คุณตั้งแต่ตอนนี้กันเถอะ "
ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ. ที่นี้
ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามชมมาจนจบ
จนกว่าจะพบกันใหม่ . . สวัสดีครับ
ปล.ภาพนี้ ผมตัดต่อ silhouette คู่รักใส่เข้าไปเองนะครับ
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากสมาชิกพันทิปคุณ 9th และสามารถติดตามกระทู้ได้ที่ pantip
เรียบเรียงโดย : ชิลไปไหน
เที่ยวต่างประเทศ | 21 พ.ย. 2024 | 2,212 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 12 พ.ย. 2024 | 1,041 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 26 ต.ค. 2024 | 1,175 อ่าน
ทริปตัวอย่าง เที่ยวต่างประเทศ | 15 ต.ค. 2024 | 1,453 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ สถานที่ยอดนิยม ที่เที่ยว | 11 ต.ค. 2024 | 1,636 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 24 ก.ย. 2024 | 1,945 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ย. 2024 | 2,669 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 30 ก.ค. 2024 | 3,618 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 19 ก.ค. 2024 | 6,955 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ค. 2024 | 4,649 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ค. 2024 | 1,182 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ สถานที่ยอดนิยม ที่เที่ยว | 18 เม.ย. 2024 | 4,512 อ่าน