0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

เที่ยวพม่าแบบอันซีน ตามรอยชาวโยเดียที่สาบสูญสู่แผ่นดินเมียนมา

calendar_month 18 ม.ค. 2018 / stylus Admin Chillpainai / visibility 35,488 / รีวิวที่เที่ยว

คุณเคยดูหนังสักเรื่องแล้วอยากออกไปเที่ยวตามรอยดูบ้างไหม?

จุดเริ่มต้นของเราเกิดจากหนังรัก (ที่เป็นมากกว่าแค่หนังรักธรรมดา) เรื่องหนึ่ง จาก“ถึงคน…ไม่คิดถึง” (From Bangkok To Mandalay) สู่สารคดี “โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง” คือจุดเริ่มต้นของการออกเดินทางสู่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา หรือพม่า แต่ครั้งนี้…ไม่ใช่การเที่ยวแบบธรรมดา เพราะเราจะไปตามรอยอดีตที่สาบสูญไปของ “ชาวโยเดีย” หรืออโยธยาที่ถูกกวาดต้อนอพยพไปจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 นั่นเอง

96cf985a982237db3e19170dfc22680927f750aa.jpg


ทริปนี้สถานีโทรทัศน์ Thai PBS พาสื่อมวลชนกว่าสิบชีวิตร่วมออกเดินทางไปตามเส้นทางที่เชื่อว่าเป็นถิ่นฐานของชาวโยเดียหรืออโยธยาที่ถูกกวาดต้อนมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 และเป็นการตามรอยสารคดี “โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง” โดยได้รับเกียรติจาก ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ และยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ “ถึงคน…ไม่คิดถึง” (From Bangkok To Mandalay) หนังรักไทย-พม่าเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เป็นผู้พาเราย้อนรอยไปสืบหาชาวโยเดียพลัดถิ่นบนดินแดนพม่า

จุดแรกที่เราไปเยือนคือ เจดีย์ยะดะนา หรือเจดีย์รัตนะ โบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองอังวะ อดีตราชธานีเก่าแก่ของพม่า ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงถึง 3 ราชวงศ์ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์อังวะ ราชวงศ์ตองอู และราชวงศ์อลองพญา

196e75e15196e913d8ca4363e96cb5dec5090d5d.jpg


อาจารย์มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวเมียนมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงจุดต่างๆ ภายในบริเวณพุทธสถานแห่งนี้ ซึ่งมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากวัดทั่วไปของพม่าที่มักจะก่อสร้างด้วยไม้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นลวดลายปูนปั้น เจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะ  วิหารที่ก่อด้วยอิฐและเสาปูนคล้ายกับวัดในอยุธยา รวมทั้งลักษณะของพระพุทธรูปที่มีฐานชุกชี ซึ่งเป็นศิลปะที่มีลักษณะผสมผสานกับทั้งศิลปะพม่าและอยุธยา เหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ที่นี่น่าจะเป็นจุดที่มีชาวโยเดียอาศัยอยู่หลังจากถูกกวาดต้อนจากกรุงศรีอยุธยามายังกรุงอังวะ

44abe55cd1ac6ba89d84c993aa03e5bcc24f88ca.jpg

d497a626f34b82e2dac37290f67508fcfd152cbd.jpg


ภายในเจดีย์ยะดะนาร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ถูกรักษาไว้ตรงกลาง มีชาวบ้านมาปูผ้าวางขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเดินชมประปราย ไม่พลุกพล่านเหมือนโบราณสถานในเมืองใหญ่อื่นๆ ของพม่า ด้านหน้าเจดีย์มีรถม้าวิ่งผ่านไปมาสลับกับมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้าน และจักรยานของเด็กนักเรียนที่เพิ่งเลิกเรียนในตอนบ่าย ทำให้บรรยากาศของที่นี่ดูผสมผสานทั้งความเก่าและใหม่ได้อย่างมีเสน่ห์แปลกตา

d639ead27cb38eb53d57781e4e873bac8bb5720f.jpg

a2376e9b376a761d4059efc4471bb1b9e0a65c25.jpg


เราออกเดินทางตามรอยชาวโยเดียต่อไปที่ “วัดบากะยา” วัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพะคยีดอว์ หรือพระเจ้าจักกายแมง ตั้งอยู่นอกกรุงอังวะไปทางทิศใต้ หากมองจากภายนอก…วัดแห่งนี้ดูเผินๆ คล้ายกับวัดพม่าทั่วไป ตัววัดสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีอาคารเรือนยอดปราสาทไม้ 7 ชั้นตั้งอยู่คู่กับตัววิหารตรงกลางที่มีหลังคาไม้แกะสลักเป็นชั้นๆ ตามศิลปะแบบพม่า

37cb3511d3e3deebbf8e1085fe65c7c0e5639be9.jpg

13c3a04890500cd24ff4b66bada3c98407985c37.jpg

3db51c34a3ab5186fc73f89533f925b85870b1d4.jpg


แต่เมื่อเข้าไปข้างในก็พบร่องรอยของชาวโยเดียที่เราตามหา นั่นคือ เสาไม้สักที่ประดับด้วยรูปแกะสลัก “ครุฑยุดนาค” ซึ่งอาจารย์มิกกี้อธิบายว่า ลักษณะพิเศษของรูปแกะสลักครุฑตนนี้ คือ เครื่องแต่งองค์ของครุฑที่ไม่ใช่พม่าร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังมีชฎาที่สวมบนเศียรครุฑ ที่มีลักษณะศิลปะแบบอยุธยาอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นฝีมือของเชิงช่างเชื้อสายชาวโยเดียที่ฝากไว้ในงานพุทธศิลป์ท้องถิ่นในบริเวณนี้

93a4aa6acb14a5a6481038f109cacd1302694c29.jpg

f0db874acee9a4aba1ad2aeac72ca688be4b07dc.jpg434a8cb2bc6d4972522ee4a7ec2fa86139314016.jpg


ช่วงเย็นเราแวะไปตามรอยสถานที่สำคัญอีกแห่ง นั่นคือ “วัดลินซินกอง” สถานที่ซึ่งนักวิชาการพม่าอย่างอาจารย์มิกกี้เชื่อว่า ที่นี่คือสถานที่เก็บอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อหลายปีก่อน แต่บัดนี้ สถานที่แห่งนี้กลับถูกปล่อยไว้ในสภาพแทบจะรกร้าง แม้จะมีรั้วกั้นพร้อมมีป้ายห้ามเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น แต่ทว่า การขุดค้นสำรวจได้ถูกระงับจากทางการพม่าไว้ชั่วคราว นอกจากนั่งร้านเก่าที่เคยใช้ในการขุดข้นและบูรณะแล้ว แทบไม่มีวี่แววว่าที่นี่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อ บริเวณพื้นที่รั้วด้านหน้าเป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาล ส่วนด้านข้างล้อมรอบด้วยสุสานของชาวเชื้อสายมุสลิม กอปรกับปัญหาข้อขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น อาจเป็นอีกมูลเหตุหนึ่งในการทำให้ที่นี่ถูกทิ้งร้างไว้อีกครั้ง

00e80c6da0a078107b53f89472c95f538137cbd9.jpg


น่าเสียดายเพราะที่นี่มีร่องรอยของสถูปเจดีย์อีกหลายแห่ง ซึ่ง นักวิชาการพม่าเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตน่าจะเป็นสุสานของราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งเจ้านายและบรมวงศ์ศานุวงศ์อีกหลายองค์ หากมีการขุดค้นพื้นที่รอบๆ ลงไปน่าจะเจอสถูปเจดีย์ที่ถูกทับถมไว้เบื้องล่างอีกจำนวนมาก

501b493b6ed0b6d8a69fa20fb78915261264ff42.jpg

3e473ff8933056c2b90ef9dc7c30dcae51c99686.jpg38e770e24677e7a8324229c19cacbcbadcee275c.jpg


จากการขุดค้นครั้งสุดท้าย ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ “บาตรแก้วที่ลงรักปิดทอง” ตัวบาตรประดับด้วยกระจกสีวิจิตรงดงาม และภายในบาตรยังพบผ้าจีวรที่ห่อกระดูกส่วนกรามที่ไม่ไหม้ไฟ และชิ้นส่วนของสายรัดประคด จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ที่ทรงผนวชเป็นพระเถระเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 และถูกเกณฑ์มาเป็นเชลยพร้อมกับชาวโยเดียที่ถูกกวาดต้อนมาในยุคนั้น

14cdf06fad82c0738b86adbcc26e45effff9ec68.jpg


ความมืดเริ่มโรยตัวลงมาทีละน้อย มีแค่แสงไฟจากบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่รอบๆ บริเวณสุสาน ที่พอให้มองเห็นเงาเจดีย์ตะคุ่มอยู่ท่ามกลางแสงสุดท้าย เราจากลาสุสานลินซินกองมาพร้อมกับความรู้สึกติดค้างในใจ ประเด็นชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์อาจเป็นเรื่องยากที่จะลบล้างและถกเถียงกันต่อไปอีกหลายสิบปี มีแต่ความตายเท่านั้นที่เป็นชะตากรรมที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นกษัตริย์ นักรบ หรือคนธรรมดาที่ไม่ได้ถูกจารึกชื่อในหน้าตำราประวัติศาสตร์ก็ตาม


วันต่อมา เรานั่งเรือไปที่หมู่บ้านสุขะ หรือซูกา (Suga Village) หมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองมัณฑะเลย์ ช่วงที่เราไปน้ำท่วมทางเข้าหมู่บ้าน เราจึงใช้วิธีการเดินทางโดยนั่งเรือแทนรถยนต์ ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้

074525a44d7edde21d7944b893b8adc718828c32.jpg


ลักษณะบ้านของชาวบ้านที่นี่ จะเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง มียุ้งข้าวไว้เก็บข้าวเปลือก ใต้ถุนเรือนใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน ทำครัวและเก็บเครื่องมือการเกษตร บางหลังมีเรือหางยาวจอดไว้ใต้ถุนบ้านให้เห็นอีกด้วย ซึ่งบ้านเรือนลักษณะใต้ถุนสูงแบบนี้ไม่ค่อยพบทั่วไปในพม่า นับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า ที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในหมู่บ้านชาวเชื้อสายโยเดียหรืออโยธยา

7bde9d72aa5a7e3d126193d377f4b34503d121c3.jpg

47f68e79ff6517131cb53a09c9c802d3ea892a6c.jpg

dba3de2421c14bacf6d5241d7540386b8d520bce.jpg


พอไปถึงชาวบ้านก็ทำขนมรอต้อนรับพวกเรา มีทั้งขนมนึ่งที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โรยได้ถั่วและน้ำตาล บางอย่างก็หน้าตาเหมือนขนมต้มขาวของไทยโรยหน้ามาด้วยมะพร้าวขูดฝอยอีกที ตบท้ายด้วยมะม่วงสุกหอมหวาน เข้ากันได้อย่างลงตัว

d1eb936010ef8a166d338aa8cc5141c3a4bf0f04.jpg

793e96e9cb2778ff8b335efd828fc58fa01632ea.jpg

58b6f6faeba9f5d612682ad4c17a2d682b3a2291.jpg

134994bea7acc1787100825b92aa7c363559f97f.jpg


ครัวทำอาหารต้อนรับแขกแบบเรียบง่าย แต่มากด้วยน้ำใจของชาวบ้านสุขะ คุณป้าคนนี้กำลังเอาแป้งลงไปทอดในน้ำมัน เป็นเมนู “มงรัดเกล้า” ขนมแป้งที่ปั้นเป็นวงแล้วนำไปทอด จิ้มกับน้ำจิ้มรสชาติหวานๆ

9cc57f77dc155a4b3e40d43f88fe2f7273e67b11.jpg

c18caa8ebe36d9e2a950e7d2d395e0841d25a16d.jpg

4137b146cee84fcd1f7500a28560cd0f18f0b9f7.jpg


หัวหน้าหมู่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่เล่าประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านให้ฟังว่า หมู่บ้านสุกะ หรือ สุกา เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุหลายร้อยปี พวกเขามีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าบรรพบุรุษของพวกเขาสืบทอดเชื้อสายมาจากชาวอโยธยา โดยมีพงศาวดารท้องถิ่นที่บันทึกไว้มานานกว่า 5 ชั่วอายุคน เฉพาะหลักฐานที่พิสูจน์ได้ แต่หากนับย้อนกลับขึ้นไปจริงๆ พวกเขาน่าจะเป็นชาวเชื้อสายโยเดียรุ่นที่ 11 แล้ว และยังมี “ภาษาลับ” ที่ใช้พูดเฉพาะกันในหมู่บ้านเป็นศัพท์ที่เหมือนคำไทยอย่าง กินข้าว กินหมาก กินพลู ขนม ฯลฯ ซึ่งจะมีเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ เท่านั้นที่รู้ความหมาย

f804313f5f1a5aa8f659c79faddb303b7a21e4a5.jpg


ชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตร ทำนาปลูกข้าวและปลูกถั่วในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีการมวนยาเส้น และเย็บผ้าเล็กๆ น้อยๆ เป็นอาชีพเสริม

2141aecdd8c1c51c645408227dc0a470d0cfb38f.jpg

f27019722dbe29826807f0ebe029c8751d757346.jpg

1d1428cf246d464465209eebea2f6951c943f277.jpg

12a6890e5dda49c36830ddedd37fb25444591e50.jpg


จากนั้นเราเดินไปสำรวจทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน จะพบกับต้นมะเดื่อยักษ์ที่คาดว่าน่าจะมีอายุมากกว่า 200 ปี ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางที่โล่ง ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ในอดีตเคยมีเจดีย์ที่สร้างคู่กับต้นมะเดื่อยักษ์ แต่ได้พังทลายลงเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เหลือแต่ซากอิฐที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานเจดีย์ปรากฏให้เห็น เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาตามตำนานการตรัสรู้ของพระโกนาคมนพุทธเจ้า และยังสอดคล้องกับพระนามของพระเจ้าอุทุมพร หรือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ นั่นเอง

33d2401e221abf6458fd883be29f157587e34c17.jpg

f6fbf7347c12323c7f7f69003f589531bcd6210f.jpg


จากหมู่บ้านสุขะ เราออกเดินทางต่อไปยังเมืองอมรปุระ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ “วัดจั๊กตาวจี” หรือจ๊อกตอว์จีย์ พระอารามหลวงประจำรัชกาลในสมัยพระเจ้ามินดง ที่จำลองแบบมาจากวิหารวัดอนันดาแห่งเมืองพุกาม โดยที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีร่องรอยของชาวโยเดียปรากฏให้เห็น

f97d18785f2ca9494fcaa24ebc40d0b59479beb8.jpg

3802e4fcbcab2e1b8af35837bcc9612cc4353d43.jpg


ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมบนผนังที่สะท้อนถึงศิลปะแบบอโยธยา แม้ภาพบางส่วนจะเริ่มลบเลือนไปตามกาลเวลา และน่าเสียดายที่มีส่วนที่ถูกทาสีทับไปบ้าง แต่ก็ยังคงหลงเหลือปรากฏร่องรอยให้เห็น

8ecb57bf4cc7f41de930607c9360a847d0594bec.jpg

afd66103c9697cd890f188f2c925abb52fac8aef.jpg


ภาพเด็กๆ ที่ไว้ผมตามทรงแกละ ทรงจุกตามเด็กๆ กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น กำลังวิ่งเล่นอยู่รอบๆ บริเวณวัด เชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของช่างเชื้อสายชาวอโยธยาที่ฝากผลงานไว้

c5ed059d8f54a80e56403457942dabe1659cbb84.jpg

94713d57f47033158e1601985960c27b1abd0c11.jpg


ความเชื่อเรื่องพระลักษณ์ พระราม หรือรามเกียรติ์ ที่ถ่ายทอดมาในหมู่ชาวเชื้อสายอโยธยา

bf1beb4eb901354c212a1ce754e43d02548b65ed.jpg


ภาพเขียน 12 นักษัตร ซึ่งเป็นคติความเชื่อตามแบบพราหมณ์ ที่มีอิทธิพลในราชวงศ์สมัยอยุธยาอย่างเด่นชัด เชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของจิตรกร หรือช่างเขียนที่เคยรับใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยามาก่อน

2156056f9d41e7b157ebf4e8081803d1ab247c7b.jpg

ecfa3d66f9bb0475df14922cde0f133dbbdf0807.jpg

d93dd603cd4bafaf5becbfacd73198bdde583d69.jpg


ซุ้มโค้งประตูและผนังที่มีภาพวาดเทพ เทวดาฝรั่ง แขก ฯลฯ สะท้อนศิลปะของสกุลช่างที่ผสมผสานจากหลายถิ่น เนื่องจากในอดีต อมรปุระเป็นอาณาจักรที่รวมชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาวพม่า โยเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ โดยสัดส่วนของชาวพม่าและโยเดียมีจำนวนใกล้เคียงกัน ศิลปะที่เมืองอมรปุระจึงมีทั้งศิลปะแบบอมรปุระของพม่าและอยุธยาผสมกัน

e5745fa76593b65a0312324dbc6aa1b95e9d553f.jpg

020b34b80b120981f1da951f2e2c29a4358b66e8.jpg


จากนั้นเราไปชมนาฏศิลป์โยเดีย ที่ University of Art Mandalay ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของพม่า คณะอาจารย์และนักศึกษาได้จัดเตรียมการแสดงนาฏศิลป์ของพม่า ที่เรียกว่า Yodia Ramayana Dance หรือศิลปะการร่ายรำโขนเรื่องรามเกียรติ์ที่มีความเป็นโยเดีย หรือศิลปะการร่ายรำแบบอยุธยาอันอ่อนช้อยแฝงอยู่ไว้

6676abd8802251f134aa6e9fea2a7eb7036bca3e.jpg


แม้จะไม่ได้สวมชุดโขนพร้อมหน้ากากโขนแบบเต็มยศ แต่เราก็สามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาจากนักแสดงที่สวมบทบาทของตัวละครจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ได้อย่างชัดเจน ท่าร่ายรำบางอย่างอาจดูแตกต่างจากท่ารำโขนของไทยอยู่บ้าง แต่กลับดูงดงามและมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

df3166686263229be367f110c4b5de8954cfcdd1.jpg

a457827e62759882576aeb06d9872639ce310ad5.jpg


นอกจากการแสดงรามเกียรติ์แล้ว เรายังได้เกียรติจากศิลปินชั้นครูมาขับร้องบทเพลง “ฉุยฉาย” ในภาษาพม่าที่เชื่อกันว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวโยเดียที่สืบเชื้อสายมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งอดีตให้พวกเราได้ฟังกันอีกด้วย

1aa29a1f9c94abb6ae317d28b5001858b9271f71.jpg


วันสุดท้าย เรามุ่งหน้าเดินทางไปยังเมืองมิงกุน รัฐสกาย เพื่อไปชมความยิ่งใหญ่ของ “เจดีย์มิงกุน” มหาเจดีย์ที่พระเจ้าปดุง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า ตั้งใจสร้างให้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดเพื่อแสดงถึงฤทธานุภาพเหนือแผ่นดินในดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ทว่าในที่สุดก็สร้างไม่สำเร็จ ได้แค่เพียงฐานเจดีย์เท่านั้น ถึงกระนั้นก็ยังมีความใหญ่โตมากทีเดียว

184bcf7575495fe42220d2b12c5614d00cd0ab6e.jpg

ce57d0cc9b45cc9f4ce046fcd3a4f106c1695e9a.jpg


ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามกับเจดีย์มิงกุน มี “สิงห์คู่ไถ่บาป” ขนาดยักษ์ ที่ถูกทำลายลงเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหว เหลือเพียงฐานของตัวสิงห์เป็นอนุสรณ์ให้เห็นเท่านั้น

e54036239bd43fdff9da6a47b28f5341c43de30e.jpg


ใกล้ๆ กันมีท่าเรือที่นักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือจากมัณฑะเลย์มาเที่ยวที่เมืองมิงกุน

8ecd9093c706fbfb99854fe17a70a2d15314ed88.jpg


ไปต่อกันที่แลนด์มาร์คอย่างวัดมิงกุน ไฮไลท์ของที่นี่คือ “ระฆังมิงกุน” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่สามารถใช้งานได้จริง (มีขนาดเป็นรองเพียงแค่ระฆังในพระราชวังเครมลินของกรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย แต่ระฆังแห่งเครมลินนั้นแตกร้าวไม่สามารถใช้งานได้แล้ว)

cd616d9ecd74719278c3d86137c7f8bc5a1f54cd.jpg

729654585f2a59f34407a864f60b30c4fa45e4ed.jpg


ระฆังมิงกุนเป็นระฆังที่หล่อจากทองแดง มีขนาดความสูง 3.66 เมตร น้ำหนักกว่า 90 ตัน ภายในระฆังมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 4.95 เมตร  สามารถเข้าไปชมด้านในและถ่ายรูปได้พร้อมกันหลายสิบคนเลยทีเดียว

09ced361bcce78ba0d773aff7d64a2bc4566c003.jpg

3338ae295d02b561b50aa19c9b7f4202268e0a56.jpg


ไฮไลท์อีกแห่งคือ “เจดีย์ชินพิวเม” (เมียะเต็งดาน) เจดีย์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิระวดี” ซึ่งพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง ได้สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งความรักให้กับพระมเหสีนามชินพยูมินที่ถึงแก่พิราลัยก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์

0d089548cfc5a9f100d27d390229f1e2b456d5e5.jpg


เจดีย์สีขาวแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นตามหลักภูมิจักรวาลทางพุทธศาสนา คือพระเจดีย์จุฬามณี ที่ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหนือเทือกเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล โดยมีบรรพตทั้ง 7 หรือเขาสัตตบริภัณฑ์และทะเลสีทันดรล้อมรอบ ลักษณะของเจดีย์จึงสร้างเป็นรูปวงกลมประกอบด้วยลานที่มีกำแพงเตี้ยๆ ก่อเป็นรูปเกลียวคลื่นสีขาว 7 ชั้นซ้อนกันจนถึงตัวเจดีย์

6ea0aa2c624080f00f563f429df75072b9fc5265.jpg


เมื่อเดินเข้ามาชั้นในจะพบกับฐานเจดีย์ชั้นบนที่มีลานพื้นหินให้เดินได้โดยรอบ และมีบันไดเล็กๆ ให้ขึ้นไปชมด้านในเจดีย์

b6763df25e566ace04f6d7a47cd5890f845f84f5.jpg


ด้านบนของเจดีย์ชินพิวเมประดับด้วยริ้วธงพม่าเล็กๆ  จากบนนี้สามารถมองเห็นฐานเจดีย์มิงกุนและวิวเมืองมิงกุนได้ 360 องศา และยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของแม่น้ำอิระวดีจากมุมสูงได้อีกด้วย

fe210963e38ffd8477d5e9e22eac2ecb5338a045.jpg

ce23f13406245e4577a24b34a873550d53c5e55e.jpg


ปิดท้ายทริปที่วัดมหาเตงดอว์จี (Maha Tendawgyi) วัดเล็กๆ ในเมืองสะกาย ที่มีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างโบสถ์ที่มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่บ่งบอกว่าเป็นฝีมือสกุลช่างอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนจิตรกรรมลายเครือเถา ที่เป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งภาพจิตรกรรมมณฑปพระพุทธรูปประดับด้วยฉัตร 9 ยอด ซึ่งตรงกับพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทในเขตพระราชวังโบราณของกรุงศรีอยุธยา น่าเสียดายที่ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์แห่งนี้เริ่มลบเลือนไปเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยของความชื้น และข้อจำกัดในการดูแลรักษา เพราะที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งบอกถึงร่องรอยของชาวอยุธยา หรือชาวโยเดียบนแผ่นดินเมียนมา

cde17909c2a59e78f7877e2f659428567dd5a321.jpg

378b8af3a4da762aeb8b0fd07db43f74f77f70cd.jpg


แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านล่วงเลยมานานกว่า 200 ปี ผู้คนได้เปลี่ยนแผ่นดิน ถิ่นฐาน จนยากที่จะสืบหาต้นน้ำแห่งสายธารของชาวโยเดียบนแผ่นดินเมียนมา แต่ร่องรอยที่สืบทอดผ่านงานศิลปะแห่งศรัทธายังคงอยู่ และน่าจะย้ำเตือนได้ว่า “เรา” ใกล้ชิดและผูกพันกันมากกว่าที่คิดเพียงใด  

8e7b6d53bbb6c826178c9b3d9caf69196a846f35.jpg




เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai