calendar_month 11 ต.ค. 2017 / stylus Admin Chillpainai / visibility 299,769 / รีวิวที่เที่ยว
“การสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็ง ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ความรู้ คุณธรรม เป็นพื้นฐานและพัฒนาไปตามลำดับอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”
คือเป้าหมายหลักในการทรงงานตลอด 70 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
7 ทศวรรษแล้วที่ทุกคนได้ประจักษ์ว่า “ความรู้” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ จริงแท้ และควรค่าแก่การสืบสานให้ยั่งยืน
พื้นที่ทรงงานของพระองค์ท่าน คือผืนแผ่นดินห่างไกลทุรกันดาร ที่ใช้เวลาเพียงไม่นานก็พลิกฟื้นขึ้นมาอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล “ต้นไม้ของพ่อ” ไม่ใช่เพียงแค่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสาน แต่ยังรวมถึง “เมล็ดพันธุ์” แห่งองค์ความรู้ที่ทรงปลูกไว้ได้ผลิดอกออกผลให้พสกนิกรน้อมนำไปปรับใช้
จากหนึ่ง เป็นสอง…แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ดังเช่นชุมชนพอเพียงทั้ง 5 แห่ง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสตร์ของพ่อ น้อมนำหลักการทรงงานมาปรับใช้จนเกิดความเข้มแข็ง อยู่รอดระดับครัวเรือน และพัฒนาสู่การขับเคลื่อนชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมรวมพลังเป็นหมู่บ้านที่สามารถพึ่งพาตน ยืนหยัดได้อย่างยั่งยืนบนฐานของความพอเพียง ที่สำคัญคือสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ โดยนำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ
ชิลไปไหนขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพาทุกคนไปเยือนชุมชนต้นแบบทั้ง 5 แห่ง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งไม่เพียงจะได้สัมผัสกับตัวอย่างแห่งวิถีความพอเพียง แต่ยังได้ท่องเที่ยวไปตามรอยเท้าของพ่อ…ในชุมชนที่ยังคงสืบสานต่อพระราชปณิธานสู่คนรุ่นหลัง
1. ชุมชนบ้านบัว พะเยา
ต้นแบบวิถีพอเพียง
หากพูดถึงจังหวัดทางภาคเหนือของเมืองไทย เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยมีโอกาสไปเยือนจังหวัดพะเยามาก่อน แต่ใครจะรู้ว่าจังหวัดเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคนแห่งนี้ จะมีชุมชนพอเพียงต้นแบบ “พะเยาโมเดล” ในฐานะหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับประเทศ อย่าง “ชุมชนบ้านบัว”
ชุมชนบ้านบัว หมู่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งชุมชนที่ได้น้อมนำหลักการทรงงานหรือศาสตร์พระราชาแปรสู่การปฏิบัติสร้างจุดเปลี่ยนจากอดีตที่ชาวบ้านสะสมปัญหาด้านสุขภาพ มีสารพิษในร่างกายถึงร้อยละ 90 ของประชากร อันเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าในการทำนา สู่โครงการลด ละ เลิกสารเคมี น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ปฏิวัติชุมชน จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ให้บ้านบัวในวันนี้ ยืนหยัดเป็นหมู่บ้านที่ผลิตข้าวอินทรีย์ส่งขายไปทั่วประเทศ ควบคู่กับการเป็นแหล่งหัตถกรรมจักสานเข่ง ตะกร้าไม้ไผ่รายใหญ่ ที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวชุมชน และต่อยอดสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วย 11 ฐานการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสู่วิถีชุมชน ภายใต้ต้นทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่ชาวบ้านยึดมั่น
ผลสำเร็จที่เด่นชัด คือ การส่งเสริมอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีส่วนร่วม ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจและจิตสำนึกของคนในชุมชน ผ่านการใช้เวทีประชาคมมีการบริหารจัดการชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งร่วมกันรักษาคุณค่าทางสังคมที่ดีงามทำให้ชุมชนบ้านบัวได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับประเทศ เมื่อปี 2553 ถือเป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาระดับพื้นที่ “พะเยาโมเดล”และอีกหลายๆ รางวัล วันนี้ชุมชนบ้านบัว จึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานเรียนรู้วิถีพอเพียงจากคณะต่างๆ ที่หลั่งไหลมาดูงานจำนวนมาก
2. ชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน น่าน
พลิกฟื้นภูมิปัญญาสู่ชุมชนเข้มแข็ง
จากชุมชนที่เกือบล่มสลายจากปัญหาหลากหลายที่รุมเร้า ..แต่วันนี้ “หมู่บ้านน้ำเกี๋ยน” อ.ภูเพียง จ.น่าน สามารถพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ คือการลดรายจ่าย ลด - เลิกใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน หันมาใช้สมุนไพรที่มีในชุมชนผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP คุณภาพต่างๆ มากมายโดยใช้แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จุดประกายจากการรวมกลุ่มภายใต้ยุทธศาสตร์ “บวร” นั่นคือ ชาวบ้าน วัด โรงเรียนและหน่วยราชการ ที่เห็นพ้องต้องกันเพื่อขจัดปัญหายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ดิน ฯลฯ แก้ไขปัญหาปากท้องชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ชุมชนชีววิถีที่เข้มแข็งมีรายได้นับล้านต่อปี ด้วยแนวคิดพึ่งพาตนเอง ยึดมั่นในความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน “กินอิ่ม–เศรษฐกิจในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้สม่ำเสมอ นอนอุ่น-สุขภาพร่างกาย มีความเป็นอยู่ที่ดี ฝันดี-มีความปลอดภัยในทรัพย์สิน”
ล่าสุด ชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยนได้รับรางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ปี 2559 ของกรมส่งเสริมการเกษตรรางวัลหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้พัฒนาต่อยอดแนวทาง “ชีววิถี” ขยายสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชนแนวอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักวิถีท้องถิ่นของจังหวัดน่าน เรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร การบริการด้านสุขภาพ ฯลฯ
นับเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบอีกแห่ง ที่เริ่มต้นจากปัญหาติดลบ แต่ด้วยแนวพระราชดำริ และความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายในชุมชน จึงกลายมาเป็นหมู่บ้านตัวอย่างแห่งความพอเพียงในปัจจุบันนี้
3. บ้านน้ำทรัพย์ เพชรบุรี
ออกแบบชุมชนด้วยตนเอง
หากใครมีโอกาสไปเที่ยวแก่งกระจาน ต้องไม่พลาดแวะไปเยือน "ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์" อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพราะที่นี่พร้อมเปิดรับสำหรับการเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นหมู่บ้านต้นแบบชุมชนเข้มแข็งให้ชุมชนอื่น ๆ มาเรียนรู้ และนำไปปรับใช้
แต่ก่อนจะมาเป็นชุมชนต้นแบบเช่นทุกวันนี้ หมู่บ้านน้ำทรัพย์ในอดีตนั้นเคยเป็นหมู่บ้านเขาหัวโล้นจากการปลูกข้าวโพด ธรรมชาติถูกทำลาย นำไปสู่การโยกย้ายถิ่นฐานหางานทำ แต่เมื่อผู้นำชุมชนเห็นว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้านไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน จึงกระตุ้นให้คนในชุมชนร่วมกันกำหนดทิศทางพัฒนาตนเอง ทำแผนชุมชน ศึกษาปัญหา หาความรู้ กำหนดเป้าหมายโดยยึดหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนชุมชน
จนกระทั่งทุกวันนี้ หมู่บ้านน้ำทรัพย์ได้ก้าวผ่านสู่การพัฒนาต่อยอดรวมตัวกันทำกิจกรรมอื่น ๆ พึ่งพากันเองและเชื่อมโยงในชุมชน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ เริ่มต้นด้วยยอดเงิน 6,120 บาท พัฒนาต่อมากระทั่งยกระดับขึ้นเป็นธนาคารชุมชน ปัจจุบันมียอดเงินสะสมกว่า 66 ล้านบาท ทุกบ้านมีการทำบัญชีครัวเรือนจนได้รับรางวัลชุมชนคนรักการทำบัญชีปัจจุบันมีการทำกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย และขยายผลสู่ชุมชนด้วยการสร้างคนต้นแบบ ครัวเรือนต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยใช้ม้าในชุมชน และกลุ่มอาชีพทำขนม อาทิ ทองม้วน ทองพับ แปรรูปอาหาร ปลานิล ปลาส้ม คั่วกลิ้ง สำหรับคณะผู้มาเยี่ยมชมที่แก่งกระจาน
4. บ้านเกาะจิก จันทบุรี
แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน
เกาะจิกตั้งอยู่ที่ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ตัวอย่างการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ดีแห่งหนึ่งทั้งด้านเทคโนโลยีและการบริหารที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม พื้นที่นำร่องโครงการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน โดยการสนับสนุนจากมหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องปั่นไฟสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนบนเกาะประมาณ 100 หลังคาเรือน
นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการปกครองท้องถิ่น จัดตั้งธนาคารหมู่บ้านรับฝากเงิน โรงผลิตไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้านบนเกาะ สถานีอนามัย ไปรษณีย์ชุมชน โรงเรียน โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมศรัทธา รวมทั้งการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เรียนรู้วิถีชุมชนที่ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ชายฝั่งด้วยการทำปะการังเทียม มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่เกาะอื่น ๆ ใกล้เคียงได้
เสน่ห์อันน่าดึงดูดใจของเกาะจิกนั้นคือการท่องเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศ พักโฮมสเตย์ สามารถมาเที่ยวชมและสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ที่เรียบง่าย กินอาหารทะเลสดๆ ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านบนเกาะรู้จักมักคุ้นกันดีและมีอัธยาศัยไมตรี สามารถเดินเที่ยววันเดียวได้ทั่วเกาะ เหมาะสำหรับไปพักผ่อนสบายๆสไตล์ชาวเล
5. ชุมชนบ้านเตย นครราชสีมา
ชุมชนจัดการตนเอง
ปัญหาที่รุมเร้ามากมาย ทั้งดินเค็ม ทำนาไม่ได้ผล เป็นหนี้เป็นสินรุงรัง ปลุกให้คนในชุมชนนี้หันมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหนทางแก้ไข โดยเริ่มต้นจากการทำบัญชีครัวเรือน เมื่อปี 2551 แล้วพบความจริงอันน่าตกใจว่า คนในชุมชนมีตัวเลขหนี้สินเฉพาะจากการใช้ปุ๋ยเคมีก็สูงถึงปีละ 4 ล้านบาทแล้ว
แนวทางแก้ปัญหาที่เริ่มด้วยการร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี และพัฒนาต่อยอดจนสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีสูตรเฉพาะที่จดสิทธิบัตรแล้วออกจำหน่าย ตามมาด้วยการผลิตข้าวอินทรีย์จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “บ้านเตย” ที่เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน
การพัฒนาชุมชนของตนให้ก้าวผ่านวิกฤติได้หลายครั้ง มาจากหลักการที่ยึดมั่นร่วมกัน การพัฒนาทุกเรื่องต้องเกิดจากความต้องการของชุมชน ผ่านกระบวนการประชาคมทุกครั้ง และปฏิเสธการพัฒนาจากภายนอกที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาและความเห็นชอบของชุมชน ตลอดจนการใฝ่หาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเพื่อขยายตลาด ฯลฯ
วันนี้บ้านเตยเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของ กปร.นำมาซึ่งรายได้จากการศึกษาดูงาน และฝึกอบรมให้กับชุมชนอื่น ปีละกว่า 2 ล้านบาท มีกิจกรรมแปรรูปข้าวอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ พลังงานทดแทน การผลิตน้ำส้มควันไม้ การแปรรูปสีข้าวบรรจุถุงส่งขาย การทำบัญชีครัวเรือน
ข้อมูล-ภาพประกอบ : จาก“เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งตามพระราชดำริ”จัดโดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อขยายผลการพัฒนาในระดับครัวเรือนให้อยู่รอด มีความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มมากขึ้นและสามารถพัฒนาก้าวต่อไปสู่ชุมชนพอเพียง ด้วยการรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้กับชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน
Tags: พะเยา น่าน จันทบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านเศษฐกิจพอเพียง บ้านน้ำทรัพย์ เพชรบุรี บ้านเกาะจิก จันทบุรี ชุมชนบ้านเตย นครราชสีมา ชุมชนบ้านบัว พะเยา ชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน น่าน
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 03 ก.ค. 2024 | 1,961 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 28 เม.ย. 2024 | 2,742 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 08 มี.ค. 2024 | 2,765 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 06 ก.พ. 2024 | 3,722 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 29 ม.ค. 2024 | 4,534 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 24 ม.ค. 2024 | 3,468 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 22 ม.ค. 2024 | 6,351 อ่าน