0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

SACICT เปิดตัว 6 ชุมชนหัตถกรรมน่าเที่ยวที่สุดในปี 2560

calendar_month 29 ส.ค. 2017 / stylus นางสาวฮานะ ชิลไปไหน / visibility 21,817 / สถานที่ยอดนิยม

ช่วงนี้เทรนด์การเที่ยวแบบชุมชนกำลังมาแรงเลยนะคะ วันนี้ชิลไปไหนเลยจะพาไปทำความรู้จักกับ 6 ชุมชนหัตถกรรมน่าเที่ยวที่สุดในปี 2560 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนหัตถกรรม (Craft Communities) เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดเชิงการตลาดได้

ซึ่ง 6 ชุมชนที่คัดเลือกมานั้นล้วนแล้วแต่มีความหลากหลายทางทักษะภูมิปัญญา ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่น่าสนใจ  มีการสืบทอดภูมิปัญญา ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนาตามศักยภาพชุมชน ให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตและประกอบกิจการเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้

เกริ่นนำกันไปพอสมควรแล้วอยากไปชมกันหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปชมกันเลยค่ะ

 

 

f77fd7bc76250a3cc41a0508daa0d5df.jpg

 

B%20(1).jpg
 
Navy01.jpg

กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเคลือบ เซรามิค เวียงกาหลง  จังหวัดเชียงราย  

เริ่มต้นที่แรกค่ะ เราจะพาขึ้นเหนือไปจังหวัดเชียงรายเพื่อไปชมเครื่องปั้นดินเผา จากหมู่บ้านเวียงกาหลง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมไทยในบรรดาเครื่องถ้วยภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า “เครื่องถ้วยล้านนา” เป็นเครื่องถ้วยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ด้วยจุดเด่นลักษณะที่สวยงาม น้ำหนักเบา เนื้อบาง อีกทั้งการเคลือบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนิยมเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ น้ำเคลือบใสมีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อนและสีเหลืองอ่อน ผิวของเครื่องถ้วยมีรอยแตกรานสวยงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเครื่องปั้นเวียงกาหลงมาแต่สมัยโบราณ และเครื่องเคลือบเซรามิค เวียงกาหลง นั้นยังได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้รับการรับรองให้เป็นสุดยอดสินค้า และเป็นสุดยอดศิลปหัตถกรรมของจังหวัดเชียงรายเลยล่ะค่ะ ถ้ามาที่นี่คุณสามารถมาเลือกซื้อเลือกหาผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านเวียงกาหลงได้มากมาย อาทิ เครื่องเคลือบดินเผา, ชุดบนโต๊ะอาหาร, ชุดน้ำชา, ชุดกาแฟ, ไห, แจกัน ของตกแต่งบ้าน เป็นต้นไปฝากญาติๆ หรือมิตรสหายได้รับรองว่าจะประทับใจแน่ๆ ค่ะ
 
1%20(4).jpg 1%20(1).jpg1%20(3).jpg 1%20(2).jpg

 

Navy02.jpg

กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง  จังหวัดเชียงใหม่

ยังอยู่ที่ภาคเหนือกันต่อนะคะ เราจะพาเพื่อนไปชมหมู่บ้านเหมืองกุง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ที่ยังคงเน้นการสืบทอดงานปั้นเครื่องปั้นดินเผามาจากบรรพบุรุษหลายรุ่น โดยเฉพาะการปั้นน้ำต้น (คนโฑ) ที่ทนทาน มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือลายใบโพธิ์ หรือลายรูปหัวใจ ลักษณะของลวดลายคล้ายกับรูปหัวใจคว่ำ ใช้ประกอบการทำลวดลายบริเวณรอยต่อระหว่างตัวน้ำต้นและคอน้ำต้น รวมทั้งใช้เป็นลวดลายของน้ำหม้อด้วย ซึ่งเป็นลายหลักของงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง วิธีการปั้นจะมีทั้งแบบโบราณที่ใช้แท่นหมุนมือที่เรียกว่า “จ้าก” และแบบประยุกต์ที่ใช้แท่นหมุนด้วยไฟฟ้า  ปัจจุบันนอกจากน้ำต้นและหม้อน้ำที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของบ้านเหมืองกุงแล้ว ยังได้พัฒนาอีกหลายรูปแบบเช่นตะเกียง ที่เขี่ยบุหรี่ กระถางต้นไม้ อ่างน้ำพุ  แจกัน หม้อแกงเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร โมบายดินปั้น  ตุ๊กตาดินปั้น รวมถึงเครื่องปั้นสำหรับใช้ตกแต่งสถานที่ต่างๆ ด้วย ใครมาเชียงใหม่ก็ลองมาแวะอุดหนุนเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงามของบ้านเหมืองกุงกันนะคะ
 
1%20(6).jpg 1%20(7).jpg1%20(8).jpg 1%20(5).jpg
 
Navy03.jpg

ชุมชนหัตถกรรมผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง  จังหวัดขอนแก่น

จากภาคเหนือเราจะขอข้ามภาคไปยังภาคอีสานบ้านเฮาที่จังหวัดขอนแก่นกันค่ะ ซึ่งที่นี่มีกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองหญ้าปล้อง  ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่และผ้าฝ้ายที่ถักทอด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ  โดยใช้สีที่ได้จากธรรมชาติมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิต  จึงเป็นจุดขายและจุดเด่นของผ้าไหมหนองหญ้าปล้อง เพราะสีจากธรรมชาติที่ย้อมแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ผ้าไหมที่เห็นแต่ละสีจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  เช่นสีที่ได้จากเปลือกประดู่ ใบสบู่แดง ใบมะม่วง ดอกทองกวาว เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น ที่ชาวบ้านนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาสร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เมื่อย้อมสีผ้าแล้ว จึงเริ่มต้นมัดหมี่ทีละเส้น ด้วยความประณีตบรรจง เพื่อให้ได้ลวดลายที่ออกแบบไว้  ใครอยากเลือกซื้อไปใช้เองหรือมอบเป็นของขวัญให้ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเลยว่าผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง เหมาะกับการเป็นของฝากมากๆ  

1%20(10).jpg 1%20(11).jpg1%20(13).jpg 1%20(12).jpg
 
 
Navy04.jpg

ชุมชนหัตถกรรมโหนดทิ้ง  จังหวัดสงขลา

ลงใต้ไปเที่ยวสงขลากันค่ะ ที่นี่มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคือ หัตถกรรมโหนดทิ้ง จากชุมชนหัตถกรรมโหนดทิ้ง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากใยตาล สืบเนื่องจากพื้นที่จังหวัดสงขลานั้นมีการปลูกต้นตาลเป็นจำนวนมาก ด้วยคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยตาลที่มีจุดเด่นต่างจากเส้นใยอื่นๆ คือความเหนียว และไม่ฉีกขาดง่าย เมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงมีความแข็งแรงทนทาน ชาวบ้านจึงนำใยตาลมาแปรรูปเป็นงานหัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นของใช้ต่างๆ มากมาย เช่น กระเป๋า หมวก โคมไฟ กล่องทิชชู่  กล่องเอนกประสงค์ ผลิตภัณฑ์โหนดทิ้งทุกชนิดเป็นการทําด้วยมือและทอมือ ลวดลาย การตกแต่ง สีเส้นใหญ่ เป็นสีธรรมชาติ และนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาได้สวยงามแล้ว จุดเด่นของชุมชนนี้คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยไม่ละทิ้งความเป็นรากเง้าวัฒนธรรมและที่มาของชุมชนเดิม รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์กลุ่มหัตถกรรมโหนดทิ้ง  และเนื่องจากเป็นหัตถกรรมชุมชนจึงได้ร่วมออกงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐจัดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีลูกค้าประจำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีถึงคุณภาพของวัตถุดิบ ความแข็งแรงทนทานของเส้นใยตาลที่อยู่ได้นานนับสิบปี อีกทั้งเส้นใยธรรมชาติที่ได้ไม่เป็นเชื้อรา ทำให้หลายประเทศอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยตาลเข้าไปขายได้ สวยงามและใช้ประโยชน์ได้ดีขนาดนี้ควรค่ากับการหาซื้อไว้ใช้สักชิ้นนะคะ

1%20(14).jpg 1%20(15).jpg1%20(17).jpg 1%20(16).jpg

 
Navy05.jpg

กลุ่มผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า (ช่างทิน)  จังหวัดอุทัยธานี

ส่วนใครที่อยากหาของฝากเป็นมีดพกสวยๆ แนะนำที่นี่เลยค่ะผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า (ช่างทิน) ต.หนองไผ่แบน อ.เมือง จ.อุทัยธานี คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาในวิทยาการช่างที่ถ่ายทอดออกมาด้วยการอนุรักษ์และสืบสานทุกกระบวนการด้านศิลปะ แม้กระทั่งการสร้างสรรค์รูปทรงและความยาวของใบมีด ที่ยังคงรักษาจารีตธรรมเนียมการนับโฉลกมีดด้วยหัวแม่มือของเจ้าของผู้สั่งทำมีดเล่มนั้นๆ ว่าต้องการให้ทรงคุณค่าในด้านใด   จุดเด่นของผลิตภัณฑ์และสินค้าภายใต้แบรนด์ “ทิน” นั้นคือ วัสดุที่ใช้ทำใบมีด คือเหล็กกล้าคุณภาพสูงนำเข้าจากประเทศเยอรมัน ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแกร่ง ทนทาน มีความมันวาว ไม่เป็นสนิม โดยช่างทินนิยมใช้สองชนิดด้วยกัน คือหากเป็นการทำมีดพับ จะใช้เหล็กกล้า ATS 34 stainless still ซึ่งเป็นเหล็กชนิดบางแต่มีคุณสมบัติด้านความแข็งแกร่ง หากจะทำมีดขนาดใหญ่ เช่นมีดแล่ มีดโบวี่ มีดเดินป่าจะใช้เหล็กกล้า 440 C stainless still เหล็กทั้งสองชนิดนี้มีคุณภาพมากในด้านความแข็ง  ส่วนวัสดุด้ามประกอบด้วย งาช้าง เขาสัตว์ต่างๆ เช่น เขากวาง เขากระทิง เขาควาย เขาวัว และไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ปุ่มมะค่า  จนได้รับการผลักดันให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดอุทัยธานี  ทำให้มีลูกค้าแวะมาเยี่ยมชมและอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ทั้งนำไปใช้งานเองและนำไปเป็นของที่ระลึก 
 
1%20(18).jpg 1%20(19).jpg
1%20(20).jpg 1%20(21).jpg
 
Navy06.jpg

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำศาลพระภูมิไม้สักทรงไทย  จังหวัดอ่างทอง

ปิดท้ายด้วยหัตกรรมทำมือสวยๆ จาก จังหวัดอ่างทอง นั้นก็คือ ศาลพระภูมิไม้สักทรงไทย ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ที่เกิดจากการดัดแปลงรูปแบบบ้านทรงไทยแบบเดิมๆ ให้ย่อส่วนลงมาเป็นศาลพระภูมิไม้สักทรงไทยที่สวยงาม ซึ่งแต่เดิมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นศาลพระภูมิ และศาลตา-ยายทรงไทยแบบหลังเดียว ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นศาลพระภูมิทรงไทยแฝด ทรงห้ายอด ทรงเก้ายอด ในการทำศาลพระภูมิไม้สักนั้น จะใช้แรงงานในชุมชนทำการผลิต ส่วนวัตถุดิบได้จากการใช้ไม้สักที่เหลือจากการทำบ้านทรงไทย และไม้เก่าจากร้านขายไม้ ทำให้ชิ้นงานไม่แตกและไม่หดตัว ในการต่อไม้จะต่อแบบบากไม้เข้ามุม 45 องศาทุกชิ้นเพราะจะทำให้เรียบเนียนดูกลมกลืน  โดยหาซื้อไม้จากโรงไม้ในพื้นที่ใกล้เคียง  เป็นการนำไม้ที่เหลือใช้มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน  และได้มีการฝึกสอนอาชีพการทำศาลพระภูมิให้กับเยาวชนในชุมชนทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังมีการสอนบุคคลทั่วไปที่สนใจ รวมทั้งออกหน่วยบริการสาธิตการทำศาลพระภูมิไม้สักในงานกาชาดจังหวัด และงานจังหวัดเคลื่อนที่ด้วย  
 
1%20(23).jpg 1%20(22).jpg
1%20(24).jpg 1%20(25).jpg
 
จากกลุ่มหัตถกรรมต้นแบบ 6 ชุมชนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจ และน่าภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการต่อยอดในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมการเรียนรู้  การตลาด  ในพื้นที่เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างเราก็ต้องช่วยสนับสนุนภูมิปัญญาของท้องถิ่นด้วยการเลือกซื้อ อุดหนุนสินค้าเหล่านี้กันด้วยนะคะเพื่อให้ชุมชนเหล่านี้ได้รักษาความเป๋็นชุมชนหัตกรรมน่าเที่ยว น่าซื้อแบบนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

 

เขียนโดย
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน