0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ทริปเชียงใหม่ฟินๆ 3 วัน 2 คืน ชวนให้หัวใจพองโต

calendar_month 02 ธ.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 203,423 / ทริปตัวอย่าง

 

 

 




" จากวันนี้สักหมื่นปี ต้นไม้ที่พ่อปลูก
 ต้องสวย ต้องงดงาม และยิ่งใหญ่ "



 
       เคยสงสัยกันบ้างมั้ย ว่าในโลกนี้จะมีคนทำสิ่งดีๆเพื่อคนอื่นมาทั้งชีวิตโดยไม่คำนึงถึงตัวเองจริงๆน่ะเหรอ ? คำตอบคือ “มีค่ะ” ที่สำคัญคือทำมาอย่างยาวนานถึง 70 ปีเลยด้วย…. พูดมาแบบนี้ หลายคนคงพอนึกออกแล้วใช่มั้ย ว่าเรากำลังพูดถึง ‘ พ่อ ‘ พ่อที่ไม่ได้มีลูกเพียงคนหรือสองคน แต่พ่อมีลูกถึง 70 ล้านคน ตั้งแต่อายุ 19 ปี พ่อที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกอยู่ดี กินดี และมีความสุข เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกมีความสุข พ่อก็จะสุขยิ่งกว่า วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปเดินตามรอยพ่อที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวงของกันค่ะ….
14
 
 
เอาจริง ตอนที่รู้ว่าตัวเองต้องไปอ่างขางก็ยังรู้สึกเฉยๆนะ เพราะพอพูดถึงคำว่า “อ่างขาง” ความคิดแรกของหลายคนคงเป็นสวนดอกไม้สถานที่สวยๆสำหรับถ่ายรูปที่เต็มไปด้วยไม้เมืองหนาว
 
เราเองก็เคยไปอ่างขางมาแล้วตั้ง 2 ครั้ง แต่หากไม่ได้โชคดีมีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการเดินทางพ่อ : Walk Of The King แล้ว เราก็คงยังมองอ่างขางเป็นอ่างขางอย่างเดิมๆ ไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ว่า พ่อต้องทุ่มเททั้งหยาดเหงื่อ แรงกายด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ในการเปลี่ยนภูเขาฝิ่นกว่าพันไร่ให้เป็นอ่างขางอย่างทุกวันนี้ หน้าที่หลักๆของโครงการหลวงจึงเป็นการช่วยเหลือชาวเขา ให้เขาอยู่กับที่ หาเลี้ยงตัวเองได้ และไม่สร้างปัญหา สมดังคำกล่าวที่ว่า ' ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา '
 

 
บริเวณสวน ๘o ตกแต่งด้วยไม้ต้น ไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์ เป็นอีกมุมไฮไลท์ของนักท่องเที่ยวที่ต้องแวะมาถ่ายรูปอยู่เสมอ นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตประจำทุกฤดูหนาวแล้ว สถานีเกษตรหลวงยังเป็นสถานีวิจัยพืชพันธุ์ไม้เมืองหนาว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขามีรายได้อีกด้วย
 


 

ภายในสถานียังมีบ้านพักโครงการหลวง ดีไซน์น่ารักกลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัวมากๆค่ะ ด้านหลังเป็นไม้สน ที่นิยมปลูกมากบนสูง สำหรับการนำไปใช้ทำฟืน เพื่อลดปัญหาการรุกล้ำป่าไม้ อันเป็นที่มาของป่า 3 อย่าง คือ ป่าใช้ฟืน ป่าสร้างบ้าน และป่าที่มีรายได้
 
 
วันแรกของเราจึงหมดไปกับการสำรวจสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วยการ ‘เดินเท้า’ เดินทางที่พ่อเคยเดินสมัย 40 กว่าปีที่แล้วนั่นแหละ โชคดีที่อากาศเย็นสบาย ได้รับฝนหลวงโปรยปรายลงมาให้ชื่นฉ่ำเล็กๆ แถมทุกคนยังพกกำลังใจมาเต็มเปี่ยม แม้จะต้องเดินวนรอบสถานีเกษตรหลวงฯตั้งแต่สวน ๘o สวนบอนไซ แปลงสาธิตพืชผักผลไม้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอีกสารพัดแปลง ตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น ก็ไม่มีใครปริปากบ่นให้ได้ยินสักคำ 
 
ฟ้าครึ้มมาแต่ไกล นึกว่าฝนจะเทลงมาอย่างหนัก ที่ไหนได้ เป็นละอองเล็กๆจากฝนหลวงของพ่อ เพื่อลดปัญหา
 การขาดแคลนน้ำบนที่สูงนี่เอง อดคิดไม่ได้เลยว่าพ่อของเราเก่งจัง ไม่ว่าจะน้ำฟ้าป่าเขา พ่อก็เชี่ยวชาญไปหมด

 

 
แท๊น แทนน ~ เจ้าลูกผสมระหว่างลากับม้าตัวนี้มีชื่อเรียกว่า ' ล่อ ' พาหนะที่พ่อใช้สำรวจเส้นทางบนเขา
 สมัยที่ยังไม่มีถนนเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ใครอยากขี่ล่อชมอ่างขาง ก็มีบริการเพียง 20 บาทเท่านั้นนะจ๊ะ

 

 
โรงงานชาอ่างขาง สร้างขึ้นเพื่อคอยรับผลผลิตจากชาวบ้านโดยเฉพาะ
พ่อบอกว่า สร้างอาชีพให้เขาแล้ว ต้องมีตลาดรองรับอาชีพของเขาด้วย 

 
 
ป้ายทรงพระเจริญด้านหน้า ' โรงไฟฟ้าพลังน้ำของพ่อ ' สมัยที่อ่างขางยังไม่มีไฟฟ้าใช้
 ต้องทำเรื่องไปขอไฟฟ้ามาจากเชียงราย พ่อจึงริเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ขึ้น เพื่อที่ทุกคนจะได้ไม่ต้องลำบาก
 






 

 
เดินต่อมาอีกนิดก็มีแปลงผักขนาดใหญ่ท่ามกลางวิวภูเขาให้เราได้ถ่ายรูปกันอีกแล้ว
 
 
 

อิ่มท้องจากมื้อเย็น เราเข้านอนด้วยความอิ่มใจที่ลานกางเต็นท์ม่อนสน สถานที่กางเต็นท์ยอดนิยมบนดอยอ่างขาง มองลงไปเห็นอำเภอฝางอยู่ไกลลิบๆท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาน้อยใหญ่ เงยหน้ามองบนฟ้าก็เจอหมู่ดาว หน้าจอไอโฟนบอกสภาพอากาศไว้ 16 องศา พ่วงด้วยควันหมูกะทะที่ลอยตามลมมาฉิวๆให้ท้องหิวยามดึก ไหนจะได้เจอเพื่อนใหม่อีกหลายคน ช่างเป็นวันที่มีความสุขซะจริ๊งงงง ~ 
 

 
วิวเบื้องหน้าสวยๆจากจุดชมวิวม่อนสนค่ะ ส่วนด้านล่างเป็นอำเภอฝาง

 


 
 
หลังจากหมอกหนามาเคาะประตูถึงหน้าเต็นท์ จนพระอาทิตย์ต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่หลังเมฆ เม็ดฝนก็พากันโปรยปรายลงมาแต่เช้า วันนี้พวกเรามีแพลนเดินป่าบนเส้นทางตามรอยพ่อ ซึ่งเป็นเส้นทางจริงที่พ่อใช้เดินเมื่อปี 2517 หรือเมื่อ 42 ปีก่อน 
 
 


 
 
มาถึงจุดหมายแรกฝนก็หยุดตกพอดีอย่างกับรู้ใจ เป็นสัญญาณให้เราเริ่มออกเดินทางจากสถานีเกษตรฯไปยังเป้าหมายอย่างแปลงไร่ชา 2000 ซึ่งรวมคร่าวๆแล้วเป็นระยะทางประมาณกิโลเมตรกว่า 
 
เห็นแปลงไร่ชา 2000 ที่มุมซ้ายมือนั่นมั้ยคะ ? นั่นแหละคือปลายทางของการเดินป่าของพวกเราในวันนี้ค่ะ
 ขนาดมีคนทำทางให้ก่อนเรามาแล้วนะ ไม่อยากจะคิดเลยว่าตอนที่พ่อมาก่อนหน้าเรา จะลำบากกว่านี้ขนาดไหน

 
 
 



มีล้มลุกคลุกคลานกันบ้างตามประสาคนไม่ชินทาง เลอะเทอะกันไปไม่ใช่น้อย แต่หากลองมองย้อนกลับไปว่าเมื่อก่อนที่พ่อมา เส้นทางจะลำบากกว่านี้ขนาดไหน ทางที่รกรุงรังเป็นป่าเขา ไร้ซึ่งถนนหนทางที่ใครๆก็บอกเราว่าจุดที่เรากำลังยืนอยู่นี้มันดีกว่าเดิมมาก  เรากลับไม่รู้สึกเหนื่อยเลยสักนิด รู้แค่ว่า นี่คือ ' ทางของพ่อ ' ทางที่พ่อเคยเดิน มันก็อิ่มใจและมีแรงฮึดแบบบอกไม่ถูก 

 
ไม่ว่าพ่อจะเดินไปที่ไหน ที่ที่เคยแห้งแล้งเหี่ยวเฉา จะเหมือนมีน้ำทิพย์ไหลลงดิน
เกิดเป็นต้นไม้น้อยใหญ่มากมาย จนเป็นอ่างขางที่สมบูรณ์ …. อ่างขางที่เต็มไปด้วยต้นไม้ของพ่อ

 
 
เมื่อ 42 ปีที่แล้ว พ่อเดินป่ามาที่นี่ เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่ใช้สร้างอ่างเก็บน้ำ ก่อนน้ำจะไหลทิ้งไม่ได้ประโยชน์
นี่คือลุงจำรัส เจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวงคนแรกรหัส 0001 ที่ได้ทำงานกับพ่อค่ะ
 



 
วิวบนนี้สวยมากกกกก รู้สึกคุ้มค่าที่ลื่นล้มไปหลายรอบ อิอิ ด้านหน้าของพวกเราคือแปลงไร่ชา 2000 ค่ะ
 แต่เป้าหมายจริงๆที่เราจะต้องไปให้ถึงให้ได้ คือ บ้านหลังสีขาวที่มีกังหันลมตรงนู้นนน
 
 
แวะทานมื้อกลางวันเติมพลังที่ไร่ชาในบรรยากาศดีต่อใจแบบหาที่ไหนไม่ได้อีก ส่วนที่ได้ชื่อว่าไร่ชา 2000 เพราะว่าเปิดปี 2000 นั่นเอง 

 
รู้มั้ยคะว่าเจ้าตัวเล็กพวกนี้คืออะไร ? มันคือ ' แมลงเต่าทอง ' ค่ะ เป็นดัชนี้ชี้วัดอากาศเลยก็ว่าได้ ถ้าที่ไหนมีเต่าทอง
 แปลว่าอากาศที่นั่นสะอาดปราศจากมลพิษ แล้วดูที่ไร่ชา 2000 ของพ่อเราสิ อยู่กันเป็นตระกูลเชียว

 
 



 

 
Finally, we're here มาถึงแล้วค่ะ กังหันลม !
 
 
 

ช็อปปิ้งผ้าทอของชาวบ้านอีกนิดหน่อย ก็ออกเดินทางไปที่หมู่บ้านนอแล ของชาวเขาเผ่าปะหล่องกันต่อ นอกจากจะมีชาวบ้านน่ารักและเป็นมิตรแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวสุดขอบชายแดนรอยต่อของประเทศไทย-พม่าด้วยล่ะ 
 

 
จุดชมวิวชายแดนไทย-พม่าที่หมู่บ้านนอแล วันนี้หมอกลงจัด มองไม่เห็นวิวเลย
 

 
 
 
ชาวบ้านนอแล เชื้อสายปะหล่อง หนึ่งในประชากรจำนวน 4 เผ่าบนอ่างขาง
 นอกจากนี้ยังมี ไทยใหญ่ มูเซอ และจีนยูนนาน

 
 
 



 
 
แปลงส่งเสริมผักเกษตรอินทรีย์ที่บ้านนอแลในมุมสูง ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่พ่อทำมันยิ่งใหญ่เหลือเกิน
 

 


 
จากบ้านนอแล รถตู้ของพวกเราวิ่งตรงมายังบ้านขอบด้ง หมู่บ้านชาวเขาแห่งแรกที่พ่อของเราเสด็จมาหา ผลผลิตขึ้นชื่อของที่นี่เป็นเจ้าสตรอว์เบอรี่ลูกโตสีแดง ที่ปลูกไล่ระดับกันเป็นแปลงวงกลมสวยงาม หลายคนคงรู้จักกันดีจากพันธุ์ยอดนิยมอย่างพันธุ์ 80 ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะว่าสามารถผลิตได้ตอนพ่ออายุ 80 ค่ะ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์ 88 แล้วด้วย ซึ่งหมายความว่าเพิ่งผลิตได้ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
 
 


 
 
หนึ่งในประโยคที่เราและเพื่อนร่วมทริปชอบที่สุดค่ะ แสดงให้เห็นว่าพ่อของเราใส่ใจทุกคนจริงๆ
 ไม่เว้นแม้แต่บรรดาหมู่บ้านเล็กๆบนเขาที่ห่างไกล ตอนเห็นป้ายนี้เกือบร้องไห้แน่ะ คิดถึงพ่อจัง
 
 


 
 
และแน่นอนว่า ไม่พลาดที่จะส่งท้ายคืนนี้ที่อ่างขางด้วยการยกโขยงออกไปหาของอร่อยยามค่ำคืน ให้ความสัมพันธ์ของพวกเราได้ใกล้ชิดกันขึ้นอีกนิด เพื่อที่กลับจากทริปนี้เราคงมีเรื่องสนุกให้ได้คิดถึงกันอีกนาน

 
 
ในไม่ช้าวันนี้ก็มาถึง เวลา 3 วัน 2 คืนช่างรวดเร็วจนยังไม่อยากกลับเลย เก็บข้าวของบอกลาอ่างขางเรียบร้อย หลับยาวๆกันเมาโค้ง ลืมตามาอีกทีตัวเองก็มาอยู่ที่พิพิธพัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) เป็นสถานที่สุดท้ายของทริปแล้วจ้า 
 

วิวสวยๆของหมู่บ้านสไตล์จีนยูนนาน ไม่ใกล้ไม่ไกลพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) มีลำธารเล็กๆ ไหลผ่าน
 
 


 
 
เดินดูรายละเอียดและประวัติความเป็นมาต่างๆ พร้อมการช็อปปิ้งสินค้าดอยคำ แบรนด์น้ำมะเขือเทศชื่อดังของสาวๆ จนกระเป๋าแทบจะต้องซื้อน้ำหนักเพิ่ม คราวนี้ล่ะถึงเวลาโบกมือบ๊ายบายของจริง
 






 
 
สุดท้ายแล้ว เราอยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งเบื่อเลยนะ หากทริปนี้มีจะแต่ต้นไม้ใบหญ้า เพราะถ้าหากไม่ใช่ต้นไม้ที่พ่อปลูกแล้ว เราก็คงไม่มีอ่างขางที่สวยงามชวนให้เราตกหลุมรักได้อย่างทุกวันนี้ จะไม่รู้เลยว่าเวลาสั้นๆ ที่ทำให้เรารู้จักคำว่า หัวใจพองโตจนคับอกมันเป็นยังไง….

 
 
ขอบคุณโครงการดีๆจากเครือข่ายสานต่อที่พ่อทำ
 โครงการเดินทางพ่อ #Walkoftheking
 ถ่ายภาพและเรียบเรียงโดย ชิลไปไหน

 

 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai