0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

38 โครงการหลวง ตามรอยเท้าพ่อ

calendar_month 03 พ.ย. 2016 / stylus นางสาวฮานะ ชิลไปไหน / visibility 182,991 / สถานที่ยอดนิยม

 

มาออกเดินทางตามรอยเท้าพ่อ กับ 38 โครงการหลวงรับหน้าหนาว ที่เที่ยวสวยงามที่ต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง จะมีที่ไหนบ้างตามไปชมกันเลยค่ะ




1. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์  ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน  1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง 
 
จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง  ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว  เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
 
ที่ตั้ง : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ 
โทร : 053-969-476-78 ต่อ 114

2. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ 

ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เลขที่ 202 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรที่อาศัยบนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้ง ซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และฝิ่น ส่งผลให้ป่าที่เคยสมบูรณ์กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม 
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ด้วยการหันมาทำการเกษตรแบบถาวร อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริมให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวกะเหรี่ยง และ ม้งในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานพัฒนาด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและโปรดให้เป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2550
 
ที่ตั้ง : สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เลขที่ 202 หมู่ 7 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
โทร :  053-286777, 053-286778

 

3. สถานีเกษตรหลวงปางดะ

 เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2522  โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์เพื่อช่วยให้ชาวเขามีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง  ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้มีรายได้มั่นคง  โดยการนำพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดให้เกษตรกรปลูก  พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีการผลิต  การใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย  ตลอดจนให้เกษตรกรใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักของการอนุรักษ์ดินและน้ำ  เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเยี่ยมศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวงเป็นครั้งแรก และในโอกาสนี้หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทูลขอพระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถานีเกษตรหลวงปางดะ” 
 
ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงปางดะมีภาระการปฏิบัติงานเป็นสถานีเพื่อการวิจัยและขยายพันธุ์พืชหลากหลายชนิด  มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,232 ไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ 804 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา  และในปี พ.ศ. 2545  สถานีเกษตรหลวงปางดะ  ได้ขยายขอบเขตพื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพไปสู่พื้นที่ ตำบลสะเมิงใต้  อำเภอสะเมิง  จังหวัดเชียงใหม่ และถือเป็นหมู่บ้านเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดหวานสองสี  และพืชผักชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงที่ร่วมโครงการอีกด้วย
 
ที่ตั้ง : สถานีเกษตรหลวงปางดะ 192 หมู่ 10 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่  50250
โทร : 053-378046

4. สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด

ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2527 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เน้นการวิจัยกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ผสม 28 สายพันธุ์ ควบคู่ไปกับการวิจัยพืชเสริมชนิดอื่น เช่น กระวานและพริกไทย เพื่อใช้ปลูกร่วมในแปลงกาแฟ
 
ที่ตั้ง : สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด เลขที่ 91 หมู่ 10  ตำบลสบโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150
โทร : 053-318303, 081-961-0014

5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย

 
27 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ บ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่จึงมีพระราชดำรัสกับหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ให้รับเข้าอยู่ในโครงการหลวง    เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ เรื่องการปลูกฝิ่น ขายฝิ่น และติดฝิ่น รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการใช้ที่ดินโดยขาดการบำรุงรักษาจนทำให้ดินเสื่อมสภาพ
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย 547  หมู่บ้านแกน้อย   ตำบลเมืองนะ  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170
โทร : 053-318310  หรือ 082-8891619

6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ

 
 เริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2527 ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการปลูกไม้ดอก ไม้ตัดใบ พืชไร่ ไม้ผล และอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ผลเขตหนาวภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ปัจจัยชีวภาพในการป้องกันกำจัดแมลง พัฒนาความเข้มแข็งและคุณภาพของชุมชน การสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ หมู่ 12 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  50240
โทร : 098-0088441 หรือ 095-4506335

7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง 

 
เริ่มดำเนินงานเมื่อ ปี พ.ศ.2528 เพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่นและพัฒนาพืชอื่นที่มีรายได้มากกว่ามาแทนฝิ่น เพื่อให้ชาวเขามีพื้นที่ทำกินอย่างถาวร ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งไม่หันกลับไปทำไร่เลื่อนลอยและบุกรุกทำลายป่า 
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง 112 หมู่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ 50360
โทร : 053-318333 หรือ  088-4137243

8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก

 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เริ่มดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ. 2524  โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้าง ที่ทำการศูนย์ ฯ ให้เป็นแหล่งสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และปลูกกาแฟอราบิก้าแก่ราษฎรในพื้นที่
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก หมู่ 8 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50130
โทร : 053-318-316 หรือ 093-146-7726

9. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา 

 
ปี พ.ศ. 2520 มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน เริ่มต้นดำเนินการบุกเบิกจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำ และระบบชลประทาน  เพื่อลดการปลูกฝิ่น เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวเขาให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดการทำไร่เลื่อนลอย ส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาด้านต่างๆ จากวันนั้นผ่านมากว่า 30 ปี วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาได้เปลี่ยนไป การทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ได้ถูกทดแทนด้วยแปลงผักและผลไม้ สร้างรายได้และความสุขให้แก่ชุมชน
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา มีพื้นที่ความรับผิดชอบ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน 338 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและภูเขาลาดชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,300 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร / ปีปัจจุบันเป็นแหล่งปลูกกุหลาบ พริกหวานแดง เหลือง เขียว  และมะเขือเทศโครงการหลวง  
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา 72 หมู่ 7 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทร : 081-952-7650 ,053-318-308

10. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง

 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง  ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ.2521 เพื่อเป็นสถานีดำเนินงานส่งเสริมอาชีพควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ในพื้นที่ 7 ไร่ ในเขตหมู่บ้านแม่ขนิลเหนือ เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมให้เกษตรกรได้มีความรู้  ความชำนาญ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่า ตลอดจนฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง บ้านแม่ขนิลเหนือ หมู่ 6 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่  50230
โทร : 053-248421

11. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง

เริ่มดำเนินการ เมื่อ ปี พ.ศ.2522  เพื่อพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรที่เหมาะสม แก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น 
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง บ้านห้วยตอง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่  50360
โทร : 053-318306

12. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว

 
เมื่อปี พ.ศ. 2523พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ชาวเขาในพื้นที่ ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและยากจนของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ในโครงการหลวง 
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170
โทร : 053-045-600

13. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย

 
เมื่อปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนองหอย ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จากนั้นกรมป่าไม้ได้จัดส่งหน่วยงานร่วมกับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเห็นว่าบ้านหนองหอยมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหอยใหม่และหนองหอยเก่า 
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย บ้านหนองหอยเก่า หมู่ 7 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180
โทร : 081-950-9767, 083-324-0610

14. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง

 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ เพื่อก่อสร้างศูนย์ให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ด และกาแฟให้แก่เกษตรกร  เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกชา (เมี่ยง) และเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง หมู่บ้านปางบง หมู่ 1 ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดชียงใหม่ 50220
โทร : 053-318-338, 081-783-1208

15. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง

 
ปี พ.ศ.2522  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงาน ส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนในท้องถิ่น หาพันธุ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมการทำการเกษตรถาวร เน้นการปลูกไม้ผลเมืองหนาว ปลูกพืชระยะยาว และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางสังคมที่ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง :  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง บ้านปางอุ๋ง หมู่ 1 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 50270
โทร : 053-318326 หรือ  089-5559876

16. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง

 
เดิมเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง  แล้วแยกออกมาก่อตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 บริเวณหมู่บ้านผาตั้ง บนเทือกดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตประเทศไทยกับลาว
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง 151 หมู่ 14  ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 57310
โทร : 081-8827477

17. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

ปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขาขาดแคลนที่ทำกิน เป็นโรคขาดสารอาหาร จึงทรงมีพระพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้ารับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแลของโครงการหลวงเพื่อเป็นผลดีในการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มบ้านผาลาด หมู่ 9 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน   51110
โทร : 053-518-059, 083-324-3063

18. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

 
ปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิโครงการหลวงได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น โดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎร จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า  และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า 249 หมู่ 7  ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา 56140
โทร : 054-401-023  หรือ  088-410-9089

19. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ

 
ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2528 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จากการรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจสภาพพื้นที่ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ด้วยการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆ แผนพัฒนาจึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขาด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ หมู่ที่ 4  ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150
โทร : 053- 318308, 081-0251002

20. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม

 
เมื่อปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชนเผ่ามูเซอ ที่หมู่บ้านวังดิน  ตำบลแม่นาวาง  อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่บนดอยผีหลอกติดกับลำน้ำกก ห่างจากชายแดนไทย-พม่า  10 กิโลเมตร ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรยังยากจนและล้าหลังอยู่มาก และเป็นจุดที่ล่อแหลมทางชายแดนแถบภาคเหนือ สมควรให้ความช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม  ได้จัดตั้งขึ้น ปี พ.ศ.2526 เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยอยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
 
ที่ตั้ง : 250 หมู่ที่ 15 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 50280 
โทร : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม

21. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ

 
เมื่อ ปี พ.ศ. 2518  โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 6 ได้จัดตั้งขึ้น ตามแนวพระราชดำริ ของพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ   ในการแก้ไขปัญหาการถูกทำลายของพื้นที่ป่าบนพื้นที่สูง ส่งเสริมพัฒนาอาชีพในชุมชนของชาวเขาส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจทีเหมาะสมทดแทนการปลูกฝิ่นและเหมาะสมกับภูมิประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539   ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง  และเปลี่ยนชื่อ เป็น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
 
ที่ตั้ง :  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ บ้านแม่โถ หมู่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่  50240
โทร : 053- 210-935 หรือ 085-623-3295

22. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ

 
เริ่มดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2521 ตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ทาเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ และแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ บ้านห้วยน้ำดิบ หมู่ที่ 2 ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  50130
โทร : 053-318315  หรือ 081-5307517

23. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง

 
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2523 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ปูนหลวง คำว่า “แม่ปูนหลวง” มาจากคำว่า “แม่พลูหลวง” คือ ใบพลูที่ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้เคี้ยวกับหมาก ซึ่งเดิมบริเวณบ้านแม่ปูนหลวงมีลำห้วยขนาดใหญ่ และมีต้นพลูหลวงขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มแรกศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวงตั้งอยู่ที่บ้านแม่ปูนหลวง ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก มีความยากลำบากในช่วงเวลาฤดูฝนจึงย้ายโครงการมาที่บ้านขุนแจ๋ ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2527
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง บ้านขุนแจ๋ หมู่ 8 ตำบลแม่แวน อำเภอแม่วิน จังหวัดเชียงใหม่ 50190 
โทร : 053-939259  081-9526352

24. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ

 
ในปี พ.ศ. 2532 ชาวเขาเผ่าลีซอ หมู่บ้านแม่ยอง ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิโครงการหลวง ผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอสะเมิง ต่อมาชาวบ้านแม่แพะ ได้รวมกลุ่ม ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิโครงการหลวง เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากพ่อค้าคนกลางที่เอารัดเอาเปรียบในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร  มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้ขยายพื้นที่ทำการชั่วคราวแห่งใหม่ที่หมู่บ้านแม่แพะ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 จึงได้รับการยกระดับจาก “หน่วยส่งเสริมแม่แพะ” ให้เป็น “ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ”
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ
หมู่ 2  ตำบลสะเมิงเหนือ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่  50250 
โทร : 086-1172377

25.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย

 
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเยี่ยมราษฎร บ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย มีฐานะยากจน 
 
ต่อมา วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519  ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรอีกครั้ง ทรงรับหมู่บ้านดังกล่าวเป็น  หมู่บ้านในโครงการพระบรมราชนุเคราะห์ชาวเขา จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ส่วนราชการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป็นการสนองแนวพระราชกระแสดังกล่าว กรมประชาสงเคราะห์ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สังกัด ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา สำรวจศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมบ้านดง ตำบลห้วยห้อม นาบบุญสม แก่นจิง  ผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้น ได้ถวายฎีกา มีใจความว่าให้มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในเขตพื้นที่ดังกล่าว เพื่อพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ให้เกษตรในพื้นที่ จึงมีรับสั่งกับหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี ให้ช่วยพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะด้านการเกษตร สังคมและสาธารณสุข  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเต็มรูปแบบใน ปี พ.ศ. 2533 
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย บ้านดง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  58120
โทร : 093-1671649

26. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก

 
ปี พ.ศ. 2526 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อกได้ก่อตั้งขึ้น  เพื่อดำเนินงานส่งเสริมเศรษฐกิจชาวไทยภูเขาด้านการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการทำไร่เลื่อนลอย รวมถึงเพื่อพัฒนาด้านอาชีพการเกษตรแบบถาวร
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก 200 หมู่ 5 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ 50360 
โทร : 053-318322

27. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

 
เมื่อ ปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยี่ยม บ้านแม่สา เป็นครั้งแรก ด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีพืชเสพติดอยู่มาก จึงรับสั่งให้โครงการหลวงและศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้ทรงเสด็จเยี่ยมบ้านแม่สาอีกครั้ง หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2525 โครงการหลวง จึงตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่น หาพืชอื่นที่มีรายได้มากกว่าฝิ่นมาทดแทนให้ชาวเขา ได้ทำกินในพื้นที่อย่างถาวรและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ หมู่ที่ 10 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180
โทร : 053-318330  หรือ 089-8519922

28.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง

 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียงเดิมขึ้นอยู่กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย และได้แยกออกมาตั้งเป็น ศูนย์ฯ แม่สะเรียง  ในปี พ.ศ. 2536  เนื่องจาก ศูนย์ฯ แม่ลาน้อย อยู่ห่างไกล และมีพื้นที่รับผิดชอบมากทั้งในเขต อำเภอแม่ลาน้อยและอำเภอแม่สะเรียง
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง บ้านอมพาย  หมู่ที่ 11 ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  58110
โทร : 088-4344902

29. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ

 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เริ่มดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ. 2521 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการพัฒนาอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย  การปลูกฝิ่น และการบุกรุกเผาถางป่าไม้ของราษฎรในพื้นที่ โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ขอให้สำนักงานเกษตรภาคเหนือ เป็นผู้ดำเนินงาน “โครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ”
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ 277 หมู่ 3 บ้านแม่แฮเหนือ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 50270
โทร : 089-048 3546, 053-211489

30. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์

 
ปี พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ตลอดจนเส้นทางคมนาคมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมปลูก
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ หมู่ 7 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ 58130
โทร : 053-318-325, 084-365-5465

31. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ

 
ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังดอยสะโง๊ะ เป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังมีพืชเสพติดอยู่มาก ควรจะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าการปลูกฝิ่น  จึงรับสั่งให้โครงการหลวงและศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ทรงเสด็จเยี่ยมอีกครั้ง จากนั้น ในปี พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ เพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่นอย่างถาวร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง : 272 หมู่ 7 ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  57150 
โทร : 081-9519711

32. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

 
เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.2526  มูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ขึ้นเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น  เพิ่มรายได้และปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร พร้อมทั้งเผยแพร่วิทยาการเกษตรแผนใหม่ให้แก่เกษตรกรชาวเขา
 
ที่ตั้ง :  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น 600 หมู่ 16  ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย  57180 
โทร : 053-163344

33. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน

 
ด้วยเหตุที่ราษฎรในพื้นที่ได้เข้าทำการบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอยเพื่อปลูกฝิ่น ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบำรุงรักษาดินและน้ำ ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพลดลงทุกปี ในปี พ.ศ.  2525 ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จึงทรงโปรดให้เริ่มเปิดดำเนินการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน  เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ทำกินเป็นหลักแหล่งถาวร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน 136 หมู่ 8  ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57260 
โทร : 053-163-344   081-030-6417

34. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง

 
ในอดีต ประชากรในพื้นที่ชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ  ม้ง และคนเมือง ประกอบอาชีพปลูกฝิ่น มีการบุกรุกทำลายป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย จนป่ากลายสภาพไปเป็นป่าเสื่อมโทรม ในปี  พ.ศ. 2525 ประธานมูลนิธิโครงการหลวง โปรดให้จัดตั้งเป็นโครงการวิจัยวิธีการส่งเสริมเกษตรที่สูง ภายใต้ชื่อ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย สถาบันวิจัยชาวเขา จ.เชียงใหม่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.เชียงราย
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง หมู่ที่ 13 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่  อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57260 
โทร : 087-190-1272

35. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง 

 
เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2542 เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับราษฎรในพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง  หมู่ที่ 5 บ้านบ่อกลาง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย  57310
โทร : 081-7462000

36. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก

 
เดือนมีนาคม พ.ศ.2521 ชาวเขาเผ่าม้งได้อพยพจากบ้านบ่อเหล็ก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มาอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยลึก เนื่องจากสภาพพื้นที่ทำกินเดิมไม่เหมะสมแก่การเพาะปลูก ได้ยื่นฎีกาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานที่ดินทำกิน ปี พ.ศ. 2522 จึงทรงรับสั่งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เข้าช่วยเหลือชาวเขาเสริมสร้างความเข้าใจในการดำรงชีวิตร่วมกับป่า โดยร่วมกับกรมป่าไม้พิจารณาพื้นที่ทำกินที่บ้านห้วยลึก ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ต้องการบูรณะ มอบให้ชาวเขาที่อาศัยอยู่เป็นผู้อนุรักษ์ มีการปลูกป่าทดแทนและดูแลผืนป่า จนกระทั่งปี พ.ศ.2523 จึงเริ่มจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก เพื่อส่งเสริมงานด้านเกษตรกรรมแก่ชาวเขา
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก หมู่ 7 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170 
โทร : 081- 9613174

37.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว


 
เมื่อ ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมบ้านห้วยเสี้ยว เป็นครั้งแรก ทรงรับสั่งให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และโครงการหลวง ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ต่อมา พ.ศ. 2524 ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยเสี้ยวอีกครั้ง ทรงประกอบพิธีเปิดอ่างเก็บน้ำห้วยเสี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวงจึงได้ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยวขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรแก่ให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
ที่ตั้ง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว บ้านห้วยเสี้ยว หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230
โทร : 095-6980-733

38. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย

เริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพัฒนาอาชีพ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมนั้นทำไร่แบบหมุนเวียน สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน และขาดปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ
 
ที่ตั้ง  : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย หมู่ 8 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160 
โทร : 053-312327

 




 

เขียนโดย
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน