0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ด้วยพระบารมี ธ ทรงก่อ ทรงเกื้อ เพื่อประชา

calendar_month 25 ต.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 120,809 / รีวิวที่เที่ยว


        ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ ของ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติในทุกด้าน จากผลของสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดไปไม่นานและอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ซ้ำเติมให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย

         ความทุกข์ยากบังเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความยากจน ไร้ที่ทำกิน ขาดแคลนปัจจัยสี่โดยเฉพาะ “ทุพโภชนาการ” เมื่อขาดแคลนอาหาร อดอยาก สุขภาพอนามัยก็ถดถอยขาดสติปัญญาที่ช่วยกันทำนุบำรุงพัฒนาประเทศ

         เมื่อทรงเริ่มทรงงานพระราชดำริสำคัญคือการเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนตั้งแต่เรื่อง โภชนาการ การแพทย์ สาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์ ด้วยทรงตระหนักว่า “การพัฒนาสุขภาพพลานามัยของประชาชนให้พ้นจากความเจ็บป่วย ย่อมนำไปสู่การพัฒนาในทุกๆด้าน”

         ยกตัวอย่าง การพระราชทานปลาหมอเทศในปี ๒๔๙๔ จนนำมาสู่ปลานิลพระราชทานเพื่อเป็นอาหารโปรตีนที่หาได้ง่ายสมดังคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และตามมาด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาที่ทำกิน ด้วยหลักการ ทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ทรงสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่หลากหลายในด้านต่าง ๆ อาทิ ดิน น้ำ ป่า อาชีพ การศึกษา สาธารณสุข เกษตร ประมง เทคโนโลยี การคมนาคม จนถึง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

         นับแต่เริ่มทรงงานตลอดระยะเวลาครองราชย์ ทุกปีจะมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่พิสูจน์ได้ว่า “เมื่อใดที่ราษฎรเดือดร้อน จะทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาแก้ไขเสมอมา” นำไปสู่โครงการพระราชดำริที่มีอยู่ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า ๔,๔๐๐ กว่าโครงการ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าแต่ละโครงการสามารถบรรเทาปัญหาให้กับราษฎรได้อย่างแท้จริง
 
๒๔๙๕ ถนนห้วยมงคล
 เส้นทางพัฒนาคุณภาพชีวิต


 โครงการพระราชดำริแห่งแรกเพื่อการพัฒนาชนบท ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลได้แก่ “ถนนห้วยมงคล”



ถนนสายประวัติศาสตร์ที่ บ้านห้วยคต ตำบลหินเหล็กไฟ ที่อยู่ห่างจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพียง ๒๐ กิโลเมตรแต่การเดินทางกลับไม่สะดวก ด้วยสภาพของป่าที่รกทึบทางที่พอมีก็ขรุขระ และยากลำบากยิ่งในหน้าฝนชาวบ้านไม่สามารถนำผลผลิตพืชผลไปจำหน่ายได้ทันก่อนจะเน่าเสีย รวมถึงเมื่อเจ็บป่วยก็ยิ่งยากเย็นในการออกมาหาความช่วยเหลือด้านการแพทย์



 

แม้พระองค์ในคราเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในปี ๒๔๙๕ ก็ทรงตระหนักด้วยพระองค์เองว่า เส้นทางนั้นยากลำบากมากในการเดินทางเพราะรถพระที่นั่งติดหล่มจนชาวบ้านต้องมาช่วยกันเข็นเกือบตลอดเส้นทาง

 ถนนห้วยมงคลจึงเกิดจากความต้องการอย่างแท้จริงของราษฎร



๒๔๙๖ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า
 ชลประทานน้ำจืดเพื่อดำรงชีพ


 การพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งเพื่อเกษตรกรรม อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นการพิสูจน์หลักการทรงงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่



 

เมื่อทรงเสด็จเยือนประชาชนในพื้นที่อำเภอหัวหิน ทรงพบว่าชาวบ้านหมู่บ้านเขาเต่าที่ทำการประมง อยู่ติดทะเลขาดแคลนน้ำจืดที่จะใช้อุปโภคบริโภค ยิ่งช่วงน้ำทะเลขึ้นก็ท่วมพื้นที่เกษตรจนเสียหาย



 

ทรงเข้าไปแก้ปัญหาโดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าบนที่ดิน ๓๐๐ ไร่ที่ราษฎรร่วมกันน้อมเกล้าถวาย



นับเป็นโครงการตามพระราชดำริแห่งแรกด้านการชลประทานของประเทศ ปัจจุบัน “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เพียงบรรเทาเรื่องน้ำให้แก่ราษฎร แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนที่สำคัญของอำเภอหัวหิน




๒๕๐๔ พระตำหนักสวนจิตรลดา
 “บ้านของพ่อ”เพื่อการเรียนรู้


 พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐานที่สร้างตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก เพราะมิได้เป็นเพียงพระตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทรงใช้พื้นที่โดยรอบเพื่อการทรงงาน จัดเป็นห้องทดลองของโครงการตามพระราชประสงค์ต่างๆ ก่อนนำไปสู่โครงการตามพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎร



ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาโครงการต่างๆ ณ “โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา”



พระตำหนักแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญที่ทรงริเริ่ม อาทิ ฟาร์มโคนม โรงผลิตนมวัวบรรจุกล่อง นมแปรรูปชนิดต่าง ๆ นาข้าว ห้องทดลองพัฒนาพันธ์ข้าว โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว โรงเพาะเห็ด และแปรรูปเห็ด โรงงานผลิตไบโอดีเซล สวนป่าธรรมชาติ บ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด รวมถึงปลานิลที่ทรงเพาะเลี้ยงเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร




โดยแต่ละโครงการมีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางแบบครบวงจรทั้งการพัฒนาวิจัยใหม่ ๆ ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ด้วยทรงตระหนักว่า หากทดลองแล้วสำเร็จจึงจะสามารถเผยแพร่สู่ภายนอกได้

๒๕๐๕ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก
 อาชีพพระราชทานและอาหารโปรตีน


 ความสนพระทัยกิจการฟาร์มโคนมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงเล็งเห็นความสำคัญของการบริโภคนมเพื่อพัฒนาการของเด็ก การเสด็จเจริญสัมพันธไมตรีที่ทวีปยุโรปช่วงปี ๒๕๐๓ นอกจากพระราชภารกิจระหว่างประเทศแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหาองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาช่วยการพัฒนาประเทศ



ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศชั้นนำในด้านความรู้เกี่ยวกับฟาร์มโคนม และการแปรรูป ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการฟาร์มโคนม ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก รัฐบาล และองค์การเกษตรกรรมของประเทศเดนมาร์กได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย



“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก” และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมแห่งแรกของไทยก่อตั้งที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕ และพัฒนากลายเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย - อ.ส.ค.ในปัจจุบัน



ครั้งนั้นแม้จะทรงได้รับทราบข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเกี่ยวกับความยากลำบากของการตั้งฟาร์มโคนมในประเทศไทย ก็ไม่ทรงท้อถอย ทรงทดลองเลี้ยงโคนมด้วยพระองค์เอง ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร



ปัจจุบันกิจการฟาร์มโคนม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมประเภทต่าง ๆ แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย คนไทยดื่มนมมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการบริโภคนมเพื่อพัฒนาการที่ดีในการเจริญเติบโต



ที่สำคัญคือ “การสร้างอาชีพ” เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงโคนมให้เกิดขึ้นจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงด้านการอาชีพ
 
๒๕๐๗ หุบกะพงหมู่บ้านสหกรณ์
 แผ่นดินนี้ “พ่อ” มอบให้เพื่อพสกนิกร


         จากพื้นที่ดินทรายแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพาะปลูกได้ยากลำบากที่บริเวณบ้านหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทำให้ผลผลิตไม่พอในการเลี้ยงชีพ เกษตรกรประสบความล้มเหลวและหมดกำลังใจด้วยไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง



       ปัจจุบัน “หมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง” มีที่ทำกินที่เหมาะสมและเกษตรก็มีอาชีพเสริมจากการแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร

        เริ่มเมื่อชาวสวนผักอำเภอชะอำจำนวน ๘๓ ครัวเรือนจากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ประกอบอาชีพได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมเพื่อลงทุนจำนวนเงิน  ๓ แสนบาท เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในปี ๒๕๐๗ แต่เมื่อไม่มีราษฎรรายใดนำเงินที่กู้มาคืน ทรงพบว่านอกจากไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ยังมีปัญหาที่การเพาะปลูกไม่ได้ผลด้วยจึงไม่มีรายได้เพียงพอ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ทรงจับจองพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่กันเป็นที่ทำกินจากกรมป่าไม้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ



       เมื่อทรงได้รับโฉนดในนามของพระองค์เองจำนวน ๓ ฉบับ รวมเนื้อที่ ๑๒,๐๗๙ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา และพระราชทานให้กับเกษตรกรที่ยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองให้เข้ามาอาศัยและทำประโยชน์จนมีการเรียกที่ดินผืนนี้ว่า “แผ่นดินพระราชา”

        และจากความร่วมมือภายใต้โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบทในปี ๒๕๐๙  จนเกิดเป็นศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตร สามารถพลิกฟื้นพัฒนาผืนดินแห้งแล้งที่เป็นดินเลว ดินร่วนปนทรายให้เป็นที่ดินทำกินทำการเกษตรได้ มีการจัดระบบชลประทาน นำไปสู่การจัดตั้ง “กลุ่มสหกรณ์” แห่งแรกของประเทศไทยในชื่อ “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” โดยกิจการที่ทำเริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่ายสู่ตลาด เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่หมู่บ้านสหกรณ์อื่น ๆ ทั่วประเทศ



        ปัจจุบันสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของสหกรณ์หุบกะพง มีความหลากหลาย อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ผักปลอดสารพิษ พืชสวน พืชไร่ การเลี้ยงโคขุน โคนม ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น


 


        จากที่ดินพระราชทาน สู่การเกษตรการดำรงชีพอย่างยั่งยืน “หุบกะพง”เป็นพื้นที่เพื่อศึกษาศาสตร์พระราชาที่มากกว่าการเรียนรู้งานทั่วไปแต่เป็นการพลิกชีวิตราษฎรผู้ยากไร้เดิมสู่ความยั่งยืนในการเลี้ยงชีพส่งต่อถึงลูกหลานในปัจจุบัน
 
๒๕๒๒ เขาหินซ้อน
 จุดเริ่มศูนย์ศึกษาฯ เพื่อผู้ห่างไกล


         ที่ดินบริเวณเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาผืนดินที่แห้งแล้ง สู่ความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชไร่ พืชป่า ไม้ยืนต้น และแปลงเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพ



        ในอดีตการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเป็นความยากลำบากทุกพื้นที่จึงต้องทรงใช้ระยะเวลานานเพื่อประทับทรงงาน

         เมื่อทรงเสด็จไปที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรในพื้นที่อยากให้ทรงประทับที่จังหวัดเป็นเวลานานเหมือนพระตำหนักอื่น จึงน้อมเกล้าถวายที่ดิน ๒๖๔ ไร่ แต่ทรงเล็งเห็นว่าจังหวัดฉะเชิงเทราไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก ที่ดินที่ทรงได้รับการถวายก็น่าจะทำประโยชน์อย่างอื่นได้ดีกว่า โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เพื่อทดลองทำการเกษตรเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรโดยรอบ

         ทรงเริ่มให้มีการพัฒนาผืนดินที่เป็นดินทรายปรับปรุงพื้นที่ สร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมจนมีที่ดินเป็นจำนวน ๑,๘๙๕ ไร่



        “เขาหินซ้อน” เป็นที่ทรงงานและที่ทรงทดลองการทำการเกษตรจนประสบความสำเร็จอย่างดีจึงทรงพระราชทานให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” แห่งแรกของประเทศไทย และปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วประเทศรวม ๖ แห่งใน ๖ พื้นที่



 


         ศูนย์เรียนรู้ที่ให้บริการรวมจุดเดียว และเบ็ดเสร็จ โดยมีบริการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความรู้ด้านการเกษตรทุกด้านในที่แห่งเดียว เป็นแหล่งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ใกล้เคียง จนประสบความสำเร็จ
 
๒๕๓๒ วัดมงคลชัยพัฒนา
 จุดเริ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

 
           ตลอดระยะเวลาการทรงงานได้ทรงค้นคว้า ทดลององค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อทรงนำเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร นับตั้งแต่เรื่องน้ำ ดิน พันธุ์พืชที่เหมาะสม ทรงพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกษตรกรประสบ นอกจากการไม่มีที่ทำกิน ขาดทุนทรัพย์แล้ว การทำเกษตรยังเป็นแบบเกษตรเชิงเดี่ยวเพราะการเติบโตของชุมชนเมือง เมื่อทำเกษตรไม่ได้ผลก็ขาดทุนไม่มีรายได้ ยากจน ตามมาด้วยปัญหาเรื่องดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม

           การพึ่งพาตนเองได้เป็นจุดหลักที่ประชาชนทุกครัวเรือนพึงมี การลดภาระรายจ่ายค่าครองชีพ เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการขาดรายได้การทำเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้ในเบื้องต้น จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม



          ตามแนวเกษตรทฤษฏีใหม่ เริ่มด้วยเรื่องของการจัดการระบบทรัพยากรน้ำและดินอย่างเหมาะสมนับเป็นปัจจัยสำคัญจึงทรงเริ่มทดลองด้วยพระองค์เองในพื้นที่ส่วนพระองค์ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

           ความสำเร็จเกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานที่ทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับ เกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ และเป็นศูนย์สาธิตและทำแปลงสาธิตตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่



          วิธีการของระบบทฤษฎีใหม่ หลักสำคัญคือ การจัดการน้ำและที่ดิน ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยกำหนดสัดส่วนการใช้ที่ดินใน ๑๐๐ พื้นที่แรก ๑๐ ส่วนเป็นที่อยู่อาศัยแบ่ง ๓๐ ส่วนแรกขุดเป็นสระเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน คู่กับการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ ๓๐ ส่วนต่อมาใช้ปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารและอีก ๓๐ ส่วนให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้ในครัวเรือน หากเหลือบริโภคค่อยนำไปจำหน่าย

           แนวทางนี้เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ของตนเอง



          แนวทางทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ สามารถเปลี่ยนดินที่แห้งแล้ง สู่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม มีที่อาศัยพออยู่ มีอาหารพอกิน มั่นคงด้วยการพึ่งตนเองและบทพิสูจน์คือผู้ที่ดำเนินรอยตามพระราชดำริสามารถอยู่รอดได้เมื่อต้องประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
 

๒๕๑๗ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน




 

           แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ แต่ถูกละเลยเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังวางแนวทางไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและต้องเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย

            แต่วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ทำให้ทุกคนพบว่าแนวทางการเป็นเสือแห่งเอเชียนั้นไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน

 

           พระราชดำรัสในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประชาชนหลายภาคส่วน ด้วยเป็นการพระราชทานปรัชญาในการดำรงชีวิต ให้คนไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทรงชี้แนะให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุล เป็นลำดับขั้นตอนและทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติตน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ ด้วย

            ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความพอดี พอประมาณ มีเหตุผลมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนเงื่อนไขความรอบรู้และความมีคุณธรรม เป็นปรัชญาของการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่การเกษตร การเงิน ภาคธุรกิจ จนถึงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

            ด้วยพระราชดำรัสที่ว่า "...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."

            ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับในระดับโลก มีการสดุดีจากสหประชาชาติว่า "ปรัชญาดังกล่าวเน้นแนวทางการเดินทางสายกลาง ทำให้สหประชาชาติมีปณิธานที่จะส่งเสริมประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติ ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่านไปใช้ เพื่อจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศต่อไป"

            สหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2549  เพื่อแสดงความตระหนักถึงการที่ได้ทรงอุทิศพระวรกายและพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและนำความเจริญยั่งยืนมาสู่ประเทศชาติเป็นเวลานานนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นแนวทางที่สำคัญของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ทั่วโลกแสวงหา






เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai