0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

แบงก์ชาติเผยธนบัตรที่ระลึก ในรัชสมัยในหลวง ร.๙ ที่คุณอาจไม่เคยเห็น

calendar_month 21 ต.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 68,863 / ข่าวท่องเที่ยว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกได้จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล รวม 18 ครั้ง (22 แบบ) ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ใครมีรุ่นไหนเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันบ้าง ไปชมกันค่ะ

*ภาพธนบัตรที่แสดงไม่ได้อ้างอิงตามขนาดจริงของธนบัตร

ครั้งที่ 1

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมทัพ ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับเหนือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์
ภาพประธานด้านหลัง : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทับท่ามกลางพสกนิกร 

ครั้งที่ 2

ธนบัตรทั้งสองชนิดราคามีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท และ ๕๐๐ บาท แบบ ๑๓ ต่างกันที่ลายน้ำเป็นพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คู่กับเลขไทย ๙๐ ซึ่งมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ ใต้ลายน้ำมีคำว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ๙๐ พรรษา

ครั้งที่ 3

มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐๐ บาท แบบ ๑๔ ต่างกันที่ลายน้ำเป็นพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใต้ลายน้ำมีคำว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕  

ครั้งที่ 4

มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๑๐ บาท แบบ ๑๒ ต่างกันที่บริเวณตอนกลางของขอบล่างด้านหน้าธนบัตรมีคำว่า ๑๒๐ ปี กระทรวงการคลัง วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ 

ครั้งที่ 5 (มี 3 แบบ)

แบบที่ 1 : มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบ ๑๔ ต่างกันที่มีตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี แทน พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙  ​
แบบที่ 2 : ธนบัตรที่ระลึกแบบพิเศษ มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๕๐ บาท แบบ ๑๓ ต่างกันที่พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์ และมีตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี แทนลายกระจัง

แบบที่ 3 : ธนบัตรที่ระลึกแบบพิเศษ ชนิดราคา ๕๐๐ บาท พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์และผนึกฟอยล์สีทองพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ไว้มุมขวาบนของธนบัตร 

ครั้งที่ 6 

​มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐๐ บาท แบบ ๑๕ ต่างกันที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ แทน พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ 

ครั้งที่ 7 

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คู่กับพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตราอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. คู่กับตราอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. และภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
ภาพประธานด้านหลัง : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และพระฉายาสาทิสลักษณ์ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส  

ครั้งที่ 8

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระบาทสมเด็จ
ภาพประธานด้านหลัง : พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ชุดสากล มีลักษณะเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ ๑ ชนิดราคา ๑๐๐ บาท 

ครั้งที่ 9

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย
ภาพประธานด้านหลัง : พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี

ครั้งที่ 10

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร  ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และทอดเครื่องราชูปโภคบรมราชอิสริยยศ
ภาพประธานด้านหลัง : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจ และภาพเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก 

ครั้งที่ 11

ภาพประธานด้านหน้า : เบื้องซ้ายมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพประธาน ตอนกลางของธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท มีภาพการเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี ๒๔๙๓ ชนิดราคา ๕ บาท มีภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบพระนักษัตร ในปี ๒๕๐๖ และชนิดราคา ๑๐ บาท มีภาพการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในปี ๒๕๔๙ เรียงตามลำดับ
ภาพประธานด้านหลัง : เป็นภาพลำดับเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในโครงตัวเลขไทย " ๙ "

ครั้งที่ 12

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมทัพ
ภาพประธานด้านหลัง : เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงโบกพระหัตถ์ และพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พุทธศักราช 2549 ตอนล่างของธนบัตรมีข้อความ "ราชาภิเษกสมรสครบ 60 ปี 28 เมษายน 2553" และ "บรมราชาภิเษกครบ 60 ปี 5 พฤษภาคม 2553

ครั้งที่ 13

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์บนลายพื้นสีเหลือบทอง เป็นภาพประธาน มีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ในฟอยล์สีเงิน ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ พระครุฑพ่าห์ และลายไทย เป็นภาพประกอบ 
ภาพประธานด้านหลัง : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เริมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพประธาน และมีภาพพระราชกรณียกิจ ได้แก่ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ทรงปลูกหญ้าแฝก แสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ภาพเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก และภาพกังหันน้ำชัยพัฒนา แสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ ภาพที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ ได้แก่ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ทรงเป่าแซกโซโฟน แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ภาพเครื่องบินทำฝนหลวงด้วยเทคนิคโจมตีเมฆฝนแบบซูเปอร์แซนด์วิช แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นภาพประกอบ

ครั้งที่ 14

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมทัพ
ภาพประธานด้านหลัง : พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ครั้งที่ 15

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันคู่กับพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นภาพประธาน มีลายน้ำอักษรพระนามาภิไธย “ส.ก.” ภายใต้พระมหามงกุฎ โดยอักษร “ก” มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง
ภาพประธานด้านหลัง : พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพประธาน โดยมีภาพพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เป็นภาพประกอบ ในเนื้อกระดาษฝังแถบสีฟ้าซ่อนไว้ตามด้านกว้างของธนบัตร โดยมีบางส่วนปรากฏให้เห็นเป็นระยะที่ด้านหลังธนบัตร ภายในแถบสีฟ้ามีตัวเลขอารบิก “80” ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นรูปดอกกุหลาบเมื่อพลิกธนบัตรไปมา 

ครั้งที่ 16

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ 
ภาพประธานด้านหลัง : พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นภาพประธาน และเชิญพระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังสถานีพัฒนาที่ดิน เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ภาพตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ภาพดอกจำปีสิรินธรและดอกม่วงเทพรัตน์ เป็นภาพประกอบ 

ครั้งที่ 17

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
ภาพประธานด้านหลัง : พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี

ครั้งที่ 18

ภาพประธานด้านหน้า : พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ 
ภาพประธานด้านหลัง : พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพประธาน โดยมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะทอดพระเนตรผลงานศิลปาชีพ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ภาพโขนพระราชทาน ชุด จองถนน ภาพกระเป๋าย่านลิเภาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และภาพพรรณไม้ในพระนามาภิไธย คัทลียาควีนสิริกิติ์และกุหลาบควีนสิริกิติ์

ขอบคุณที่มาและข้อมูลดีๆจาก : www.facebook.com/bankofthailandofficial และ www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai