0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ฝนเทียมของ 'พ่อหลวงไทย' ได้ช่วยสร้างความชุ่มฉ่ำแก่ประเทศจอร์แดน

calendar_month 19 ต.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 22,530 / ข่าวท่องเที่ยว

จอร์แดน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน ถึงอย่างนั้นก็ยังโชคดีที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ประเทศจอร์แดนจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศไทยที่สร้างฝนเทียมหรือที่คนไทยเรียกว่า 'ฝนหลวง' ด้วยความพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดฝนหรือเพิ่มปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศ

เทคโนโลยีนี้เริ่มพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1969 โดยพระมหากษัตริย์ของไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างความหนาแน่นของก้อนเมฆ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปริมาณน้ำฝนและขอบเขตที่ต้องการให้ฝนตก

โมฮัมหมัด ซามาวี ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาของจอร์แดน ระบุว่า จอร์แดนติดอันดับต้นๆในบรรดาประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ

ในขณะที่การขาดแคลนน้ำได้ก่อให้เกิดความกังวลด้านปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็คาดว่าจะทำให้จอร์แดนยิ่งแย่เข้าไปอีก เพราะนอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว รูปแบบการเกิดฝนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ตามรายงานขององค์กรอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า ปัจจุบัน ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับน้ำและปัญหาอื่นๆที่อาจตามมา ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามลำดับสูงสุดที่มีผลต่อสุขภาพของคนจอร์แดน รวมถึงปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจก็มีอยู่อย่างจำกัด

กระทรวงน้ำและกระทรวงเกษตรของจอร์แดน ระบุว่า การผลิตฝนเทียมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ถือเป็นโครงการระดับชาติที่ดำเนินการต่อเนื่องและได้รับการดูแลจากกองทัพอากาศแห่งราชวงศ์จอร์แดน

ประเทศจอร์แดนได้รับอนุญาตจากไทยเพื่อใช้เทคนิคการทำฝนเทียมในปี ค.ศ.2009 จากการที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเมื่อวันที่ 23 มีนาคมในปีนั้น เพื่อขอรับความรู้และความชำนาญในการทำฝนเทียมและวิธีการแก้ปัญหาต่างๆจากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จอร์แดนพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาบรรเทาสภาพอากาศอันแห้งแล้งโดยการสร้างฝนเทียมขึ้นมา โดยการให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์จอร์แดน ไทมส์ ซามาวีได้กล่าวว่า ประเทศจอร์แดนมีความพยายามหลายครั้งในการผลิตฝนเทียมด้วยตัวเองในช่วงปี ค.ศ.1989-1995 แต่ผลการทดลองกลับล้มเหลวเนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคนิค

การทำฝนเทียมหรือฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะกับความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา

ทรัพยากรน้ำในจอร์แดนนั้นมีใช้ปีละ 800-900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น

แต่จำนวนผู้ใช้น้ำในปัจจุบันนั้นมีมากถึง 10 ล้านคน อีกทั้งจำนวนประชากรยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำ และเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆที่มีความยั่งยืน

เช่นเดียวกับจอร์แดน ประเทศไทยก็เคยประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างฝนเทียมที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมการสร้างฝนเทียมเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรคอยออกแบบและดำเนินการทดลองด้วยเทคนิคล้ำสมัย

 


ตามเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการฝนหลวง

 



 

เรื่องจาก Inc. Arabia
เรียบเรียงโดย ชิลไปไหน

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai