0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

10 โครงการหลวงน่าไปสัมผัส จากโครงการส่วนพระองค์ สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน

calendar_month 15 ต.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 193,276 / สถานที่ยอดนิยม

 

โครงการหลวง (Royal project) เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เกือบ 47 ปีต่อมา…โครงการหลวงเป็นมากยิ่งกว่าโครงการส่วนพระองค์ แต่เป็นโครงการที่ช่วยให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาดีขึ้น อีกทั้งโครงการหลวงหลายแห่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและดึงดูดผู้คนที่ต้องการมาสัมผัสกับธรรมชาติและวิถีการเกษตรแบบยั่งยืน ดังเช่นโครงการหลวงทั้ง 10 แห่งที่เรานำมาฝากเพื่อให้ทุกคนได้ไปตามรอย



สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง


สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนา พันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด


จุดท่องเที่ยวในสถานี


- สวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขางเป็นสวนตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษมีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม


 

-  สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าเดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้ในสวน
 -  สวนบอนไซอ่างขาง จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานี
 -  โรงเรือนดอกไม้ เป็นการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวภายในโรงเรือนมีมุมน้ำตก มุมนั่งเล่นพักผ่อน
 -  โรงเรือนกุหลาบตัดดอก รวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่าง ๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ติดกับโรงเรือนเป็นร้านค้าของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของโครงการหลวงและชุมชน



 

-  โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดตกแต่งด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด พืชสุมนไพรของโครงการหลวงให้ได้ชม



 

-  แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยที่นี่ปลูกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย
 -  แปลงไม้ผลตามฤดูกาล ภายในสถานีฯ อ่างขางมีแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี เช่น พี้ช พลับ สาลี กีวี่

จุดท่องเที่ยวชุมชน
 -  หมู่บ้านนอแล เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ตั้งอยู่ติดกับชายแดนพม่า มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งการ งานหัตถกรรม สวยงามแปลกตา งานปีใหม่ปะหล่องเดือนเมษายน มีการแสดงฟ้อนนางร้อยเงิน ฟ้อนดาบ
 -  หมู่บ้านขอบด้ง เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการถักหญ้าอิบูแค เป็นกำไรสีสันสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก
 -  ชุมชนชาวจีนยูนนาน ที่บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น

กิจกรรมท่องเที่ยว
 -  ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ สถานีฯ อ่างขางมีบริการจักรยานเช่าติดต่อได้ที่สโมสรอ่างขาง ปั่นชมแปลงเกษตรภายในสถานี
 -  ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ อ่างขาง
 -  เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเดินในแปลงปลูกป่าของสถานีฯ ซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน นักท่องเที่ยวสนใจเดินในเส้นทางของสถานีฯ อ่างขาง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลก่อนการเที่ยวชมได้
 -  การดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมายังบริเวณสถานีฯ อ่างขางรวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งชมรม “ ฅนรักษ์นกอ่างขาง ” โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีข้อมูลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกที่อ่างขาง


 

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์



สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรที่อาศัยบนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ซึ่งเดิมมักบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อทำไร่เลื่อนลอปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และฝิ่น ส่งผลให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่งส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรกรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น บุกรุกทำลายป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ด้วยการให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบถาวร
 
 จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ. 2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ตัดดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผลขนาดเล็ก รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัย อันนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านรอบ ๆ สถานี ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ถือเป็นสถานีหลักในการวิจัยไม้ดอกไม้ประดับเขตหนาว และไม้ผลเขตหนาวขนาดเล็ก รวมถึงการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พืชผัก พืชไร่ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไม้ดอกและไม้ประดับที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งบนพื้นที่สูง

 

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสถานีฯ ให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ต่างถิ่นหลากหลายชนิด ที่ทางสถานีได้ศึกษาวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา โดยได้จัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ  ได้แก่

จุดท่องเที่ยวในสถานี
 -  สวน 80 พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้น ที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการ ที่นำออกมาสาธิต ในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด

 

-  สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศ ประมาณ 30 สกุล 50 ชนิด จุดเด่นภายในสวน คือ กูดต้น หรือ ทรีเฟิน (Tree Fern) เป็นเฟินขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม 10 เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า 10 ชนิด

 -  โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม

 

-  สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต ภายในสวนประกอบไปด้วย กุหลาบพันปีจำนวน 3 สายพันธุ์ คือ Rhododendron สีแดงและสีขาว กลุ่มที่ 2 Azalea เป็นพืชกลุ่มหนึ่งในตระกูล Rhododendron เป็นลูกผสมจากงานศึกษาและค้นคว้า และทดสอบพันธ์ ซึ่งมีจัดแสดงอยู่ในสวนกุหลาบพันปี และกลุ่มที่ 3 Vireyas เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย

 -  โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน ซึ่งรวบรวมเฟินที่หายากชนิดต่าง ๆ ไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้วเป็นโรงจัดแสดงเฟินที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ 50 สกุล 200 กว่าชนิด และยังมีเฟินรัศมีโชติ ซึ่งเป็นเฟินประจำถิ่นของพื้นที่ ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

 -  โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง

 -  โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด 5 ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก

 - หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว ได้แก่ งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ดอก งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลขนาดเล็ก และงานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลเขตหนาว ได้แก่ พี้ช พลับ อาโวคาโด กีวี่ฟรุ๊ต


จุดท่องเที่ยวชุมชน
 -  บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิต สมถะเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นศึกษาดูนก ประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอก นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
 ก.ย. – กลาง ต.ค . ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆในฤดูฝน และปลายต.ค. – ต้นพ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม

 -  บ้านหนองหล่ม ชุมชนชาวปกาเกอญอที่นี่มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในหลวงเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นชั่วโมง เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ทรงมีรับสั่งเองว่าการที่เสด็จไปทำให้ชาวเขานั้นเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจปลูก ปัจจุบันบนดอยมีกาแฟมากมายก็เริ่มจากกาแฟ 2-3 ต้นนั่นเอง

กิจกรรมท่องเที่ยว
 -  เส้นทางเดินชมธรรมชาติสวนบริเวณในสถานีฯ และนักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ สถานีและในหมู่บ้านได้

 
 
 


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง


เมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังคงมีการปลูกพืชเสพติดเช่นฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก  จึงเห็นควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่น รับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนา ในครั้งนั้นเอกอัครราชทูตอเมริกาได้รับสนองนโยบายโดยให้การสนับสนุนงบประมาณสมทบ จากนั้นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จึงได้เริ่มต้นดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2528
 

จุดท่องเที่ยวในศูนย์

-  ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่

-  ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง ดูขั้นตอนการผลิตชาพร้อมชิมชา (ขั้นตอนการผลิตชาอยู่ในโรงผลิตชาซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนแม่วาก)

-  ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรู้ท พี้ช พลับ เครปกูสเบอรี่ เสาวรสหวาน สตรอเบอรี่ และบ๊วย

-  ชมแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น มะเขือเทศดอยคำ บล๊อกโคโลนี ถั่วหวาน ผักกาดหวาน บล๊อคโคลี่ หอมญี่ปุ่น ฯลฯ

-  ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา ออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง

จุดท่องเที่ยวชุมชน

-  ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ระยะทาง 2 กม. ชมดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว และชมดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์

-  ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งบ้านขุนวาง มีการปักผ้าม้ง และการทำการเกษตร

-  ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ บ้านโป่งน้อย เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่และมีบ้านพักแบบโฮมสเตยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกรมการท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง บริการแก่นักท่องเที่ยว

-  เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดำ ระยะทางจากศูนย์ 2.5 กิโลเมตร มีไกด์ท้องถิ่นนำชม ระหว่างทางไกด์จะอธิบายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณไม้ สมุนไพร ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่า

-  จุดชมวิวดอยผาแง่ม จุดชมวิวบนหน้าผา ระหว่างทางก็จะมีไกด์ท้องถิ่นให้ความรู้เรื่องพรรณไม้ ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกกุหลาบพันปีบานบริเวณลานผาแง่ม

กิจกรรมท่องเที่ยว

-  ชมและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง 2 ชนเผ่าม้งและปกาเกอญอ รวมทั้งอุดหนุนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชม ชิม และเลือกซื้อผลผลิตสด ๆ จากแปลงของเกษตรกร

-  เส้นทางเดินชมธรรมชาติดอยผาแง่ม น้ำตกตะเลโพ๊ะ ศึกษาพรรณไม้ป่า และมีจุดชมวิวภูเขาที่สวยงามเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ มีดอกกุหลาบพันปีบานที่ยอดดอยผาแง่ม

-  นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมภายในศูนย์และรอบ ๆ ชุมชนได้

 
 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก


หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมรายได้น้อยความเป็นอยู่ยากลำบาก จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2524 สายพระเนตรที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ


กิจกรรมการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวง ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแห่งแรก และชุมชนคนเมืองมีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากว่าบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย

จุดท่องเที่ยวในศูนย์

-  มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนริมสายธารน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา

-  ชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ ช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสด พร้อมเก็บเกี่ยวส่งไปยังโรงงานแปรรูปในศูนย์ ผ่านขั้นตอนกะเทาะเปลือก ตากแห้ง และคั่ว ให้เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ

-  โรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสีให้ชื่นชม

จุดท่องเที่ยวชุมชน

-  หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนสมุนไพร โดยสามารถติดต่อให้ไกด์ท้องถิ่นนำชมหมู่บ้านได้รับรองได้ว่าได้ทั้งความรู้และสนุก นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นถิ่น และชมขั้นตอนการทำหมอนใบชา

-  จุดชมวิวดอยม่อนล้าน ชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอก ช่วงฤดูหนาว และเส้นทางนี้ยังเชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง

-  โบสถ์กลางน้ำ ในเชียงใหม่มี 2 แห่งคือที่ อ.แม่แจ่ม และที่วัดแม่กำปอง (วัดคันธาพฤกษา)

-  ยังมีวิหารที่ทำด้วยไม้สักทอง แกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชุมชน เป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา โดยปลูกไว้กลางน้ำและมีน้ำเป็นใบเสมา

กิจกรรมท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมธรรมชาติตามเส้นทางลัดเลาะไปตามแนวเขา


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติเพื่อดำเนินการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม ที่อย่างน้อยทำให้มีรายได้พอกินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ ทดแทนการทำลายพื้นที่ป่าจาก การทำไร่เลื่อนลอย ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์และการปลูกอะโวคาโดที่สำคัญของโครงการหลวง อีกทั้งทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงยังได้เข้าไปส่งเสริมพื้นที่ว่างเปล่าภายในหมู่บ้านห้วยผักไผ่ โดยเผยแพร่หลักวิชาการปลูกกุหลาบเมืองหนาวให้คนในพื้นที่อีกด้วย

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและแมกไม้ ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตพื้นที่อำเภอหางดง อากาศปลอดโปร่งเหมาะแก่การพักผ่อนดับความว้าวุ่นของสังคมคนเมืองเป็นอย่างดี ในอดีตพื้นที่ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งทดลองดอกไม้เมืองหนาวที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบ แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนแนวทางโดยเน้นผักในการเกษตรเป็นหลัก

 

จุดท่องเที่ยวในศูนย์

-  ชมสวนกุหลาบห้วยผักไผ่ เป็นหน่วยย่อยที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ ทุ่งเริง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแปลงกุหลาบ กว่า 200 สายพันธุ์ อาทิ แดงมินิเจส (Miniature Roses) มิดไนท์บลู (Midnight Blue Rose) พิงค์พีช (Pink Peach Rose) บีเวอรี่ (Bevery Rose) เป็นต้น ซึ่งมีทั้งกุหลาบทั่วไป กุหลาบเลื้อย หรือกุหลาบแบบไม้ประดับสวน กุหลาบกระถางให้เลือกซื้อนำไปปลูก ภายในสวนมีร้านกาแฟ อาหารว่างไว้จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

-  แปลงสาธิตการปลูกอาโวคาโดหลากสายพันธุ์ ซึ่งเป็นไม้ผลหลักที่ปลูกเยอะในพื้นที่ ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ชิมไอศกรีมเสิร์ฟในผลอาโวคาโด

-  ชมแปลงผักอินทรีย์ ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งผักกาด กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ ถั่วแขก ซาโยเต้

จุดท่องเที่ยวชุมชน

-  ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมืองที่บ้านแม่ขนิลเหนือ ภูมิปัญญาการเคี่ยนไม้เป็นภาชนะสำหรับใช้ในครัวเรือน โดยนำไม้เป็นท่อนมายึดกับแกนหมุนแล้วใช้การแกะ ถากให้เป็นรูปทรงต่างๆ ที่นี่ยังมีประเพณีสู่ขวัญควายที่จะจัดก่อนฤดูกาลทำนาเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของควายที่ใช้งานไถนาทำให้มีข้าวกิน

-  ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง

-  เส้นทางศึกษาธรรมชาติถ้ำตั๊กแตน เป็นโพรงถ้ำขนาดกลางมีหินย้อย และเป็นจุดชมวิว


กิจกรรมท่องเที่ยว

-  ชมและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง 2 ชนเผ่า รวมทั้งอุดหนุนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชม ชิม และเลือกซื้อผลผลิตสดๆจากแปลงของเกษตรกร


ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย



 

ปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนองหอย ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จากนั้นกรมป่าไม้ได้จัดส่งหน่วยงานร่วมกับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเห็นว่าบ้านหนองหอยมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหอยใหม่และหนองหอยเก่า อีกทั้งยังมีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะพืชเสพติด

   

ม่อนแจ่มเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการหลวงหนองหอย ที่นี่มีจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามเห็นทะเลหมอก วิวพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตอนค่ำจะเห็นแสงไฟจากบ้านเรือนด้านล่าง และเป็นที่ดูดาวสวยงามแห่งหนึ่ง ช่วงฤดูหนาวมีแปลงสตรอเบอรี่ให้นักท่องเที่ยวเก็บและชิม จากม่อนแจ่มไปอีก 3 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้าม จะเป็นยอดหน้าผาม่อนล่อง เป็นจุดชมวิวในมุมสูงและมีตำนานเล่าขานทางประวัติศาสตร์ของขุนหลวงวิลังคะทุกๆ ปีจะมีการจัดงานไหว้สาขุนหลวงวิลังคะที่ดอยม่อนล่อง


จุดท่องเที่ยวในศูนย์

-  ม่อนแจ่ม เป็นจุดชมวิวบนสันเขาสามารถมองวิวภูเขาได้ 360 องศา สามารถชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก ทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว มีบริการร้านอาหาร มุมนั่งจิบกาแฟ และชาสมุนไพรสด 7 ชนิด ด้านหน้าทางเข้าม่อนแจ่มมีร้านค้าของที่ระลึกชุมชนจำหน่ายสินค้าผลผลิตตามฤดูกาล งานหัตถกรรมชาวเขา และรถล้อเลื่อนไม้ (ฟอมูล่าม้ง)ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขับ
 


-  สถานีวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวง มีผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลเพื่อทำงานวิจัยเก็บข้อมูล เช่น อาติโช๊ค เรดโอ๊ค มะเขือเทศโครงการหลวง พืชสุมนไพร และผักไฮโดรโพนิคส์ปลูกโดยไม่ใช้ดิน

-  แปลงผักแบบขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาลาดชัน ชาวบ้านก็เลยทำแปลงผักแบบขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายกับการปลูกผัก ช่วงที่สวยที่สุดจะเป็นกลางฤดูฝนจนถึงกลางฤดูหนาว (สิงหาคม-ธันวาคม) มีผักหลากชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

-  แปลงสาธิตไม้ผล

จุดท่องเที่ยวชุมชน

-  ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง ที่ยังมีการปักผ้าลวดลายต่างๆ มีการละเล่นต่างๆ เช่น การเป่าแคน โยนลูกช่วง ยิงหน้าไม้ ลูกข่างม้ง แข่งล้อเลื่อนไม้ ช่วงเทศกาลงานปีใหม่ม้งจัดช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมกิจกรรม บริเวณลานหมู่บ้าน

-  จุดชมวิวดอยม่อนล่อง มีลักษณะเป็นหน้าผามองไปไกลๆจะเห็นถึงเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของศาลขุนหลวงวิลังคะตามตำนาน

-  แปลงสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน (ออกผลผลิตช่วง ธันวาคม-มีนาคม ) มีหลากหลายแปลงให้นักท่องเที่ยวได้สนุกเพลิดเพลินกับการเก็บ-ชิม สตรอเบอรี่สดๆ ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตรอเบอรี่จำหน่าย เช่น น้ำสตรอเอบรี่ สตรอเบอรี่อบแห้ง

-  สวนอีเดน ตั้งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงม่อนแจ่ม 1.5 กิโลเมตร เป็นสวนองุ่นไร้เมล็ดของเกษตรกรที่ปลูกในโรงเรือนมีกิจกรรมให้เก็บองุ่นเอง และจำหน่ายองุ่นสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่น เช่น น้ำองุ่นสด องุ่นอบแห้ง

กิจกรรมท่องเที่ยว

-  เส้นทางเดินชมสวนบริเวณในสถานีฯ


 
 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง

 
 

ปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านโป่ง ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของการประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยงที่ตกต่ำ จึงทรงมีพระเมตตาพระราชทานค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท สำหรับการปลูกสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง บนพื้นที่ 60 ไร่ในเขตหมู่บ้านปางบง โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟแก่เกษตรกรในพื้นที่
 
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 -  ชมแปลงวิจัยเกษตรภายในศูนย์ฯ เช่น หน้าวัว กล้วยไม้กระถาง เฟินหนัง เฟินนาคราช รองเท้านารี พลับ วนิลา ฯลฯ

 -  ชมสวนกาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีของโครงการหลวงและเกษตรกร รสนุ่ม ชวนให้ลิ้มลอง และมีบริการกาแฟสดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ

 

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
 -  การต้อนรับบายศรีสู่ขวัญ การแสดงฟ้อนเล็บ ดนตรีพื้นเมือง

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
 -  เส้นทางเดินป่าพิชิตยอดเขาภูลังกาหลวง ที่มีความสูงถึง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพรรณไม้ป่า กล้วยไม้ นกหลายชนิด
 -  จุดชมวิวยอดดอยลังกา
 -  น้ำตกเทพเสด็จ เป็นน้ำตกสูง 80 เมตร มีหลายชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้
 -  ม่อนพระฤาษี เป็นแหล่งรวมสมุนไพรพื้นบ้านที่มีตามธรรมชาติ
 



ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย



ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวบ้านป่าแป๋และบ้านห้วยห้อม เป็นครั้งแรก ได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จัดตั้งธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรทั้งสองหมู่บ้านเป็นครั้งที่ 2 และทรงรับสั่งให้ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เข้าช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแก่ชาวเขา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สังคมและสาธารณสุข เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาน้อยและแม่น้ำแม่สะเรียง มีการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอย่างกว้างขวาง
 
 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แล้ว ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (สมเด็จย่าฯ ทรงก่อตั้งขึ้นในนามของสมาคมศิษย์เก่าสิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2516) ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 91.75 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,368 ไร่ ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าลั๊วะ

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
 -  ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า พร้อมชิมกาแฟสดรสดีผลิตภัณฑ์คุณภาพจากบ้านห้วยห้อม สวนกาแฟที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ส่งจำหน่ายให้กับโครงการหลวง และสตาร์บัคส์

 -  ชมวิวความสวยงามของนาข้าวแบบขั้นบันได ระหว่างทางก่อนถึงศูนย์

 
-  ชมการทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม มีทั้งผ้าทอขนแกะล้วน และผ้าทอขนแกะผสมฝ้ายที่ย้อมสีจากธรรมชาติ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
 -  ชมวัฒนธรรมและประเพณีการไหว้ผีหมู่บ้าน จัดในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
 -  พิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าที่เพื่อการเกษตรให้ผลผลิตที่ดี จะเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว
 -  การเรียกขวัญและผูกด้ายขวัญ พิธีนี้กระทำขึ้นในหลายโอกาส อาทิ ขึ้นปีใหม่ แต่งงาน รับขวัญเด็กแรกเกิด

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
 -  น้ำตกทีราชันย์ น้ำตกขนาดกลาง สูง 3 ชั้น ระยะทางห่างจากศูนย์ฯ 6 กิโลเมตร
 -  น้ำตกในเขตบ้านดงใหม่ สูง 5 ชั้น หนทางค่อนข้างลำบากจึงควรติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน
 -  น้ำตกทีลอเล สูง 5 ชั้น ระยะทางจากศูนย์ฯ 15 กิโลเมตร เดินเท้าต่ออีก 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการเดินชมธรรมชาติ พรรณไม้ป่า

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์



พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ตลอดจนเส้นทางคมนาคมก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาว

 อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นกลุ่มตำบลในอำเภอแม่แจ่ม ก่อนจะแยกตัวมาตั้งเป็น “อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ” ใน ปี พ.ศ. 2551 และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตามนามพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการขอพระราชทานโดยกระทรวงมหาดไทย จุดเด่นสำคัญของ อำเภอกัลยาณิวัฒนา คือ ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าสนแห่งนี้คนทั่วไปรู้จักกันดีในนาม “ป่าสนวัดจันทร์” หรือ “ป่าสนบ้านวัดจันทร์”
 
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
 -  ป่าสนธรรมชาติอายุกว่าร้อยปีบริเวณที่รอบ ๆ ศูนย์ฯ

 -  แปลงสาธิตผัก แปลงผักของเกษตรกร เช่น ฟักทองมินิ ผักกาดขาว ซุกินี่ ไม้ผลเมืองหนาวตามฤดูกาล เช่น พลับ พลัมพี้ช

จุดท่องเที่ยวชุมชน
 -  วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาได้กว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งชื่อของวัดจันทร์ บ้านจันทร์นั้น ตามตำนานเชื่อว่ามาจากชื่อของ “นายจันทร์” (ตำนานหนึ่งว่าเป็นคนจากล้านนา อีกตำนานหนึ่งว่าเป็นคนพื้นที่ที่นี่) วัดจันทร์เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุวัดจันทร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ขณะที่วิหารของที่นี่นับว่าดูแปลกจากวิหารทั่ว ๆ ไป หลายคนเรียกวิหารหลังนี้ว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” เพราะเมืองมองจากด้านหน้าแล้วดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่ สวมอยู่ ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอที่บ้านหล่อชอ

 -  อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อกรมชลประทาน ชมภูมิทัศน์โดยรอบป่าสนสวยงาม

-  น้ำตกห้วยฮ่อม ลักษณะเป็นกิ่วน้ำ ต้นกำเนิดลำน้ำแม่แจ่มและลำน้ำปาย

 -  เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าสนวัดจันทร์ ผืนดินแห่งนี้ชาวกะเหรี่ยง มูเสคี (หมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม) ได้อาศัยมานับร้อยปีพวกเขาช่วยกันดูแลป่าอย่างดีตามธรรมเนียมกะเหรี่ยง เมื่อมีเด็กเกิดใหม่จะนำสะดือของเด็กไปผู้ไว้กับต้นไม้ กำหนดว่าเป็นต้นไม้ของครอบครัว ใครจะมาตัดไม่ได้ สนที่นี่เป็นสนเขาทั้งสองใบและสามใบ ขึ้นในเฉพาะที่สูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

 -  บ้านห้วยฮ่อม เครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนหล่อชอ เกิดจากการรวมตัวกัน 3 หมู่บ้าน คือ ห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก เป็นชนเผ่าปกาเกอญอ มีเรื่องราวชุมชนที่อยู่คู่กับธรรมชาติมีวิถีชีวิต อาหารการกินแบบดั้งเดิม ประเพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เปิดให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านและมีโฮมสเตย์

 

กิจกรรมท่องเที่ยว

-  เดินป่าศึกษาธรรมชาติป่าสนวัดจันทร์สองใบสนสามใบ ป่าไผ่หกที่มีลำใหญ่ชาวบ้านนิยมมาสร้างบ้าน
 -  การปั่นจักรยานสูดอากาศบริสุทธิ์รอบ ๆ ชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมกับชาวเขา
  

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ



ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2528 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จากการรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจสภาพพื้นที่ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ด้วยการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆ แผนพัฒนาจึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขาด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน

จุดท่องเที่ยวในศูนย์
 -  แปลงส่งเสริมไม้ดอกศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ได้แก่ แปลงปลูกดอกซิมบิเดี้ยม กล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ฟ้ามุ้ย ไม้ใบวานิลลา บ้านสามสบ บ้านเมืองก๋าย บ้านม่อนเงาะ

 -  แปลงส่งเสริมปลูกพืชผัก ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น กะหล่ำหัวใจ บ้านผาหมอน (กิ่วป่าหอบ)

 
-  แปลงปลูกชาจีน กาแฟ บ้านปงตอง บ้านออบ บ้านก๋ายน้อย และบ้านเมืองก๋าย


 
-  แปลงปลูกไม้ผล บ้านกิ่วป่าหอบ บ้านม่อนเงาะ บ้านเมืองก๋าย บ้านออบ บ้านเหล่า-ห้วยน้ำเย็น และบ้านสบก๋าย

จุดท่องเที่ยวชุมชน
 -  หมู่บ้านเหล่าพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การเก็บใบมี่ยง หมักเมี่ยง แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะคนเหนือที่สูบบุหรี่ขี้โยจะกินเมี่ยงเพื่อลดความฉุนของยาสูบ จนกลายเป็นธรรมเนียมในสมัยก่อน เวลาไปเยี่ยมบ้านใครจะมีถาดเมี่ยงไว้ต้อนรับ

 -  จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ จากลานจอดรถเดินเท้าไปอีก 300 เมตรก็จะพบกับวิวสวยงามของชั้นเขาแบบ 360 องศา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตรเป็นจุดชมวิวพระอาทิพย์ขึ้น-ตก วิวทะเลหมอกที่สวยงาม หน้าผามีหินงอกออกมาลักษณะคล้ายนางเงือก ชาวบ้านเรียกกันว่าเงือกผา

 -  หมู่บ้านม้งม่อนเงาะ ชมอดีตบ้านชาวเขาเผ่าม้งที่มีผมยาวที่สุดในโลก ได้บันทึกในกินเนสบุ๊ค ด้วยความยาว 5 เมตร สาเหตุที่ต้องไว้ผมยาวเพราะว่าเคยตัดผมแล้วทำให้เจ็บป่วย จึงไว้ผมยาวตลอด

 -  ไร่ชาสวนลุงเดช เกษตรกรดีเด่นที่ปลูกชาจีนและทำการเกษตรแบบผสมผสาน เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกชา ชิมชา

 -  หมู่บ้านสบก๋าย หมู่บ้านท่ามกลางป่าเขาสายน้ำ เป็นจุดล่องแพยาง แพไม้ไผ่ในลำน้ำแม่แตงชมวิวธรรมชาติป่าเขาลัดเลาะโขดหิน ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ติดต่อล่องแพได้ที่ 089-4337880

กิจกรรมท่องเที่ยว
 -  เดินชมธรรมชาติเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่าง ๆ มีไกด์ท้องถิ่นพานำชม
 -  การปั่นจักยานโดยนักท่องเที่ยวนำจักรยานมาปั่นได้ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ทางขึ้นลงเนินเป็นการออกกำลังกาย
 -  ล่องแพที่บ้านสบก๋าย


 

**ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.thairoyalprojecttour.com


 
 



 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai