0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

10 สถานที่ไหว้พระไหว้เจ้ารับตรุษจีน

calendar_month 30 ม.ค. 2014 / stylus Admin Chillpainai / visibility 121,615 / สถานที่ยอดนิยม

รวบรวม 10 สถานที่สำหรับไหว้พระไหว้เจ้าขอพร เนื่องในวันตรุษจีน หรือวันปีใหม่จีน
ศาลเจ้าและวัดจีนที่ไหนบ้าง ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมไปกราบไหว้ ไปดูกันเลยจ้าาา

 

 

1. วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

 

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ
 

สาเหตุที่วัดนี้ บางคนเรียกว่า "วัดมังกร" เพราะคำว่า "เล่ง" หรือ "เล้ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร (คำว่า “เน่ย” แปลว่าดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด) ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" พระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

วัดนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ

 

จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล จะเห็นเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่นพิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า เรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ทั้งหมด 3 องค์ หรือ "ซำป้อหุกโจ้ว" พร้อมพระอรหันต์ อีก 18องค์ หรือที่เรียกว่า "จับโป๊ยหล่อหั่ง"

 

ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ "ไท้ส่วย เอี๊ยะ" เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา "หั่วท้อเซียงซือกง" และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ "ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว"ซึ่งคล้ายกับพระสังกัจจายน์ "กวนอิมผู่สัก" หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์

 

ทั้งนี้ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เปิดให้สะเดาะเคราะห์ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00น. - 18.00 น. สถานที่ตั้ง 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100 โทร. 0-2222-3975, 0-2226-6553

 

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

 

 

2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

 

หรือที่ใครๆเรียกติดปากกันว่า วัดเล่งเน่ยยี่ 2 เป็นวัดจีนในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พื้นที่เดิมก่อนเคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ เป็นโรงเจที่ชาวบ้านบางบัวทองให้ความศรัทธามาช้านาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อสร้างเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี วัดนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ โดยคณะสงฆ์จีนนิกายมอบให้



 

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชานุญาตให้สร้างวัด และพระราชทานนามว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์ ใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 12 ปี (2539-2551) ในบริเวณวัดประกอบด้วยวิหารต่างๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรม ตามแนวปรัชญา และคติธรรมทางพระพุทธศาสนา จีนนิกายฝ่ายมหายาน อันประกอบด้วย วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์, วิหารหมื่นพุทธเจ้า, วิหารบูรพาจารย์, ห้องปฏิบัติธรรม, ที่พำนักสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00 - 18.00 น.

 

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

 

 

3. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

 

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่าวัดสามจีน เดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรงข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางที่ก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยาราม เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน3 คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า “วัดสามจีน”

 

วัดไตรมิตรวิทยารามเดิมมีพื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะน้ำขังได้ทั่วไป ปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วทั้งภายในบริเวณวัด และวัดมีเขตอุปจารวัดดังนี้

ทิศเหนือ จรดกับถนนพระราม 4
ทิศใต้ จรดกับถนนตรีมิตร
ทิศตะวันออก จรดกับซอยสุกร 1

ทิศตะวันตก จรดกับถนนเจริญกรุง

 

พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของกรมศิลปากรสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเยาวราช และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สร้างจากหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร (พระพุทธรูปทองคำ) มีทั้งหมด 4 ชั้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม เมื่อเดือนตุลาคม ปี 50 มีระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 2 ปี ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

พระมหามณฑป มีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นล่างสุด เป็นที่จอดรถ ชั้น 2 เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ชั้น 3 เป็นนิทรรศกาลพระพุทธรูปทองคำ และชั้นที่ 4 เป็นชั้นสูงสุด ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อทองคำและลานประทักษิณสำหรับประกอบศาสนกิจ

 

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 5:00-23:00 น.

 

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

 

 

4. ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า)

 

ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า อยู่ที่ถนนเยาวราชเดินเลยวงเวียนโอเดียนมานิดหน่อย เดินมองไปทางซ้ายมือก็จะพบได้
ไม่ยาก มูลนิธิแห่งนี้มีศาลรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง องค์ทำด้วยไม้จันทน์แกะสลัก รูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น ในสมัยของราชวงศ์ซ่งหรือเมื่อประมาณ 800-900 ปีที่ผ่านมา และเมื่อในปี พ.ศ. 2501 ได้ถูกอัญเชิญมาจาก ประเทศจีนและมาประดิษฐานอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

 

องค์เจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโรกิเตศวรปางประทานพรแกะสลักจากไม้เนื้อหอม ศิลปะแบบราชวงศ์ถัง อัญเชิญมาจากประเทศจีน และเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้

 

ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า) เปิดให้เข้าชมทุกวัน โทร. 0-2237-2190-1, 0-2233-0955

 

ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า)

 

 

5. ศาลเจ้าพ่อเสือ

 ถนนตะนาว เสาชิงช้า

 

ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เป็นศาลเจ้าชาวจีนที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐานเฮี้ยงเทียนเซียงตี่ และรูปเจ้าพ่อเสือ หรือที่คนจีนเรียกว่า "ตั่วเล่าเอี้ย" (บ้างก็เรียกเฮี๊ยงเทียนเสี่ยงตี) เป็นศาลที่ทั้งคนจีนและคนไทยให้ความเคารพ และมากราบไหว้กันนานเป็นร้อยปี ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว เดิมตั้งอยู่บริเวรถนนบำรุงเมือง เมื่อมีการขยายถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายมาสร้างใหม่ ที่บริเวณทางสามแพร่ง ถนนตะนาว เขตพระนคร

 

ลักษณะอาคารสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาลคือ "เสียนเทียนซั่งตี้" หรือที่คนไทยเรียกว่า "เจ้าพ่อเสือ" นั่นเอง เรื่องราวตำนานของเจ้าพ่อเสือที่ชาวบ้านย่านนี้เล่าขานนั้น เชื่อมโยงกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพ์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวไทย และชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านาน

 

วิธีสักการะ ไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง การสักการะเจ้าพ่อเสือ จะต้องซื้อเครื่องเซ่น ซึ่งประกอบด้วย หมูสามชั้น ไข่ดิบ และข้าวเหนียวหวาน ชุดเล็กราคา 20 บาท และชุดใหญ่ ราคา 50 บาท



 

สำหรับเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปสักการะ คือ ช่วงเวลา 06.00 - 17.00 น. ทุกวัน ควรเดินทางด้วยรถประจำทางหรือรถแท็กซี่จะสะดวกกว่า เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด

 

ศาลเจ้าพ่อเสือ

 ถนนตะนาว เสาชิงช้า

 

 

6. ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ตลิ่งชัน

 

เจ้าพ่อเห้งเจีย หรือซุนหงอคง เป็นเทพผู้ประทานความสุขและเป็นผู้กำจัดเหล่าปีศาจร้าย ชนชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้และบูชามาก ปัจจุบันศาลเจ้าหลายแห่งจะมีรูปเคารพของเทพวานร หรือเจ้าพ่อเห้งเจีย เพื่อไว้ให้คนที่เลื่อมใสศรัทธามีโอกาสเข้าไปสักการะขอพร



 

ตำนานเจ้าพ่อเห้งเจียกล่าวกันว่า กำเนิดจากหินชนิดหนึ่งที่ถูกแสงสุริยันจันทราอาบมานานกว่าพันปี และแล้ววันหนึ่งก็แตกออก และมีลิงตัวหนึ่งกระโดดออกมาจากหินก้อนนั้น เจ้าลิงตัวนั้นได้บุกขึ้นไปเขาฮัวกั่วซาน (เขาผลไม้) ซึ่งมีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และตั้งตัวเป็นใหญ่มีฉายานามว่า "มุ้ยเกาอ๋อง"



 

วันหนึ่งมุ้ยเกาอ๋องเห็นลิงในฝูงตัวหนึ่งตายลงด้วยความแก่ชรา จึงเกิดความวิตกและคิดจะหาทางแก้ไขที่จะทำให้ตนเองไม่ต้องเจ็บหรือตาย จึงออกจากฝูงเดินทางเสาะแสวงหาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบกับเซียน "โผเถโจ๊ซือ" (สุภูติ) และได้ฝึกวิชาคาถาอาคมต่างๆ จนมีอิทธิฤทธิ์สามารถแปลงกายได้ 72 ร่าง กระโดดตีลังกาคราหนึ่งได้ไกลกว่า 300 ลี้ พร้อมกับได้ชื่อใหม่ว่า "ซุนหงอคง" เมื่อฝึกวิชาสำเร็จแล้วก็เกิดลำพองใจ เกิดร้อนวิชาออกอาละวาดไปทั่วไม่เว้นแม้กระทั่งสวรรค์หรือบาดาล ทำให้ 3 โลกปั่นป่วนไปหมด

 

ร้อนถึงเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องส่งทหารสวรรค์และเทพต่างๆ ไปจับซุนหงอคง นอกจากจะจับไม่ได้แล้ว กลับถูกซุนหงอคงเล่นงานจนแตกกระจายไปหมด ในที่สุดเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องยอมแพ้ให้ยกซุนหงอคงขึ้นเป็นใหญ่ พร้อมแต่งตั้งให้เป็น "มหาเทพฉีเทียนต้าเซิ้น"

 

แต่ซุนหงอคงก็ยังเหิมเกริมไม่เลิก ในที่สุดองค์ยูไลต้องเสด็จมากำราบด้วยตัวเอง โดยจับซุนหงอคงไว้ให้ภูเขาหินทับขังไว้นานถึง 500 ปี และกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะช่วยออกมาได้คือพระถัมซังจั๋ง และซุนหงอคงต้องยอมบวชเป็นลูกศิษย์รับใช้พระถังซัมจั๋งไปชมภูทวีป (อินเดีย) และต้องคุ้มครองพระถังซัมจั๋งไปตลอดทางด้วยจึงจะเป็นอิสระ

 

ทั้งนี้ ศาลเจ้าเง็กฮกตึ๊ง (เจ้าพ่อเห้งเจีย) ตั้งอยู่ที่สวนผัก ตลิ่งชัน ซอย 19 กรุงเทพฯ โทร. 02 435-1143, 02 8842522-3

 

ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ตลิ่งชัน

 

 

7. ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ เยาวราช

 

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเกี่ยวกับ “เวียนเหอเยี่ยหยุน” แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิและสมาคมต่าง ๆ ที่นับถือ “เหอเยี่ยหยุน” โดยตั้งรูปเคารพของท่านไว้เป็นประธานศาลเจ้าอีกหลายแห่ง

 

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราช มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศักราชที่ 17 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากมีป้ายที่เหลืออยู่ในศาลนี้มีข้อความที่บ่งบอกปีศักราชของจีน ทำให้ทราบว่าศาลเจ้านี้สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2201 และคำแปลอักษรจีนของป้ายในศาล มีความหมายว่า ผู้ที่ได้เข้ามาอธิษฐานขอพรภายใต้ป้ายนี้จะได้รับพรตามความประสงค์ นอกจากนั้นยังมีกลอง ระฆังที่เก่าแก่อย่างมากอีกด้วย

 

ศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี บริเวณตลาดใหม่ ย่านการค้าที่คึกคักตลอดเวลา มีป้ายจารึกโบราณสมัยราชวงศ์ชิง และราชวงศ์หมิง ระฆังสักดิ์สิทธิ์สมัยราชวงศ์เช็ง และรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกระถางธูปไว้ ณ ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาเคารพบูชาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแห่งนี้

 

ความเชื่อในการกราบไหว้ เป็นเรื่องความมั่งคั่งทางการค้า ความก้าวหน้าในกิจการ และกราบไหว้เพื่อขอให้เลี้ยงบุตรง่าย สุขภาพแข็งแรง และเติบโตอย่างปลอดภัย

 

ซอยเยาวราช 11 (ซอยอิสรานุภาพ) บริเวณตลาดเก่า เยาวราช โทร 08-1614-5992 เปิดทุกวันเวลา 07:00 น. - 17:00 น.

 

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ เยาวราช

 

 

8. ศาลเจ้าพ่อกวนอู เยาวราช

 

ท่านกวนอู หยุน ฉาง (ภาษาจีนกลางเรียกนามท่านว่า กวนอี่ว์) เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ และเตียวหุย ตามพงศาวดารเรื่องสามก๊ก หน้าท่านแดงตลอดเวลาเหมือนพุทราสุก มีหนวดเครางดงาม มีง้าวเป็นอาวุธคู่กาย ท่านมีความรอบรู้ด้านการทหารมาก มีพาหนะสุดยอด คือ ม้าเซ็กเทา ท่านร่วมชีวิตในการศึกร่วมกับเล่าปี่ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีและกล้าหาญ หลังจากท่านสิ้นชีวิตลง ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สูงส่ง



 

ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และด้านข้างมีรูปปั้นเทพเจ้าม้า (เบ๊เอี๊ย) เซ่นไหว้รูปม้าพร้อมกับเขย่าลูกกระพรวน ซื้อผักให้เทพเจ้าม้า และถวายของไหว้ได้ ณ ศาลแห่งนี้ ศาลเจ้าพ่อกวนอู (บางคนเรียกศาลเจ้าพ่อม้า) ผู้หลักผู้ใหญ่เก่าๆ มักแนะนำให้ลูกหลานมาไหว้ท่านทุกปี 

การไหว้เจ้าพ่อกวนอู สำหรับบุคคลเกิดดวงชะตาธาตุต่างๆ



 

เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุน้ำมาไหว้แล้วจะดี

เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุทองหากเป็นข้าราชการมาไหว้จะดี

เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุดินมาไหว้แล้วจะเกิดอำนาจบารมี

เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุไฟมาไหว้แล้วจะทำให้มีความเชื่อมั่นดีขึ้น

เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุไม้มาไหว้แล้วจะทำให้ใจเย็นขึ้นรอบคอบมากขึ้น

 

สถานที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอู : ตรอกโรงโดม ซอยอิสรานุภาพ (เยาวราช11) เดินตรงจากศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยมาเล็กน้อย ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ โทร. 0-2226-4473-4 เปิดทุกวัน เวลา07:00 น. - 17:00 น.

 

ศาลเจ้าพ่อกวนอู เยาวราช ศาลเจ้าพ่อกวนอู เยาวราช

 

 

9. ศาลเจ้าเซียงกง (เซียนกง)

 

ศาลเจ้าเซียงกง (เซียนกง) สร้างขึ้นเมื่อรัชสมัยเสียนฟงปีที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2397 หรือ ค.ศ. 1854 ) ชาวฮกเกี้ยนได้นำรูปปั้นของท่านจากมณฑลฮกเกี้ยนมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ด้วยบุญฤทธิ์อันเกรียงไกรของท่านเซียงกง (เซียนกง) เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างกว้างขวางจากปวงประชาผู้มีจิตกุศล แต่เนื่องจากศาลเจ้ามีประวัติอันยาวนาน สิ่งปลูกสร้างในศาลเจ้าย่อมมีความทรุดโทรมตามกาลเวลา คณะกรรมการศาลเจ้า และผู้มีจิตศรัทธา ได้เคยร่วมใจบริจาคเพื่อการบูรณะ ปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งหลายครา กล่าวคือได้มีการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 ต่อมาก็มีการบูรณะอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 ครั้นถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ก็ได้รับทุนจากผู้มีจิตศรัทธาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างมั่งถึง และได้ก่อสร้าง เสามังกร (ทีกง) เป็นที่สำเร็จลุล่วงเป็นศาลเจ้าที่ตระหง่านโดดเด่น สวยงาม และเป็นที่พึ่งทางใจของผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป

 

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2414 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนของประเทศจีนกลุ่มหนึ่ง อพยพเข้ามายังกรุงเทพมหานครตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันซึ่งเดิมตั้งอยู่ริมคลอง และได้พัฒนาเป็นการค้าขายเครื่องยนต์เก่าที่ใช้แล้วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่เรียกกันว่า “ เซียงกง” ก่อนที่จะแพร่หลายไปสู่แหล่งอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ชาวฮกเกี้ยนกลุ่มนี้ได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าแห่งนี้เรียกกันว่า ศาลเจ้าเซียงกง ตามชื่อเรียกสถานที่

 

ศาลเจ้าเซียงกง ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนทรงวาดส่วนที่ติดกับถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

ศาลเจ้าเซียงกง (เซียนกง)

 

 

10. วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร

 

สร้างในสมัยกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์เชียงสือนัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้ลักลอบหนีกลับเมือง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวนจึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชนชาวญวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนั้น ย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของคนไทย คนจีน และคนญวน เชื้อสายพุทธจึงอยู่ในความเงียบสงบ วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่วยี่) ในขณะนั้นจึงมีสภาพคล้ายรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเลยอีกนานหลายปี

 

จนถึงประมาณปี พ.ศ.2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ และได้ชักนำคนไทย - คนจีนในเขตนั้น อันมีนายเช็งเต็ก แซ่เจี่ย และนางซิ่วออม แซ่ตัน สองสามีภรรยาคหบดีผู้กว้างขวางในกลุ่มชาวจีน ในย่านตลาดมิ่งเมืองเป็นแกนนำ ต่อมาทายาทของครอบครัวท่านทั้งสองนี้ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ว่า "เศวตมาลย์"

 

พระอาจารย์และประชาชนในครั้งนั้น ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัด จนวัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้ทรงพระราชทานสมณศักดิ์ให้อาจารย์ไหซัน เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกายดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และได้ทรงพระราชทานนามวัดกัมโล่วยี่ให้ใหม่ว่า "วัดทิพยวารีวิหาร" ตรงกับ พ.ศ.2452 เหตุที่ให้ชื่อวัดเป็นเช่นนี้ เพราะที่วัดนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์อยู่นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกวัดกัมโล่วยี่ หรือวัดน้ำทิพย์นี้เป็น "วัดทิพยวารีวิหาร" อันเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับท่านที่สนใจจะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดทิพยวารีวิหารหรือวัดกัมโล่วยี่ ไปได้ที่ สถานที่ตั้ง 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร (บ้านหม้อ) กรุงเทพฯ 10200 โทร. 0-222-5988

 

วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร

 

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย This road is mine

ขอบคุณข้อมูลจาก http://laopuntaokong.org และ http://www.chinatownyaowarach.com
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก อินเตอร์เนต



เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai