0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

5 ที่เที่ยวย้อนเวลาตามหาอดีต

calendar_month 08 ม.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 9,656 / สถานที่ยอดนิยม


เมืองไทยเรานี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองมากมายตั้งแต่สมัยอดีต เห็นได้จากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
ในแต่ละจังหวัด ที่ถึงแม้จะผ่านมานานหลายร้อยหลายพันปี แต่สถาปัตยกรรมเหล่านั้นก็ยังคงปรากฎงดงามอยู่เหนือกาลเวลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย วันนี้ชิลไปไหนเลยจะขอชวนคุณไปเที่ยวยัง 5 ที่เที่ยวย้อนเวลาตามหาอดีตเหล่านี้กัน
ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้น ก็ตามมาดูเลยจ้าาา....


โค้งมรณะ ถ้ำกระแซ - กาญจนบุรี



       มีเวลาว่างเสาร์-อาทิตย์แต่ไม่รู้จะไปไหน ลองนั่งรถไฟย้อนไปรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตกันมั้ย กับเส้นทางที่จะพาคุณไปรับลมเย็นๆ ชมเส้นทางอันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเล่าถึงความโหดร้าย และยากลำบากของเชลยศึกจำนวนมากที่ต้องสังเวยชีวิตลงในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี จุดไฮไลท์ของรถไฟสายนี้ต้องเป็นถ้ำกระแซ หรือช่วงโค้งมรณะ ระยะทางยาวกว่า 400 เมตร ที่ด้านซ้ายติดแม่น้ำแควน้อย และด้านขวาขนาบด้วยหน้าผาสูงชันคดโค้งชวนหวาดเสียว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่สวยงามที่สุดด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตกไทรโยคน้อย 

ที่พักกาญจนบุรี : คลิกที่นี่


สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย - แม่ฮ่องสอน



 
       จากทางรถไฟสายมรณะเดินทางสู่ภาคเหนือ คราวนี้ขอมาเดินข้ามสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนสักหน่อย เพราะถ้ามาปายแล้วไม่ได้เดินข้ามสะพานนี้ เดี๋ยวคนอื่นเค้าหาว่าจะมาไม่ถึง สะพานประวัติศาสตร์ท่าปายตั้งอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 88 ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองปายกันเลยทีเดียว ทั้งสวยและคลาสสิคตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างขึ้นโดยกองทหารประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำปายและลำเลียงเสบียงและอาวุธเข้าไปยังประเทศพม่าเช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว เหล็กทุกท่อน ไม้ทุกแผ่นจึงเต็มไปด้วยกลิ่นไอความคลาสสิคและเรื่องราวมากมาย จนอดใจไม่ไหวต้องโพสท์ท่าชิคๆ เอาไว้อัพรูปอวดเพื่อนให้อิจฉาเล่น

ที่พักปาย : คลิกที่นี่
 

ย่านเมืองเก่า ถนนถลาง - ภูเก็ต





(ขอบคุณภาพสวยๆจากคุณ peachy)

       ลองไปเดินสำรวจตึกเก่า ตัวอาคารร่วมสมัยแบบโบราณในสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสบนเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ที่มีอายุคู่กับเมืองภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 100 ปี และยังตั้งตระหง่านอวดโฉมให้ใครต่อใครนิยมมาเยือนแวะเวียนมาเยือนอยู่เสมอดูสิ แล้วคุณจะได้พบว่าภูเก็ตโดยเฉพาะย่านถนนถลาง หรือย่านเมืองเก่าแห่งนี้ มีสีสันมากขนาดไหน ทั้งวัฒนธรรมในอดีตที่รุ่งเรือง ทั้งความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้คนอย่าง ไทย จีน มุสลิม อินเดีย หรืออื่นๆ ตลอดสองข้างทางของถนนในระยะทาง 450 เมตร ของเมืองที่ได้ชื่อว่าย่านการค้าในอดีต ซึ่งในปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารอร่อยขึ้นชื่อหลายเจ้า ให้คุณได้เดินชม และชิมกันแบบเพลินๆอีกด้วย    

ที่พักภูเก็ต : คลิกที่นี่ 
  

ปราสาทหินพนมรุ้ง - บุรีรัมย์



ปราสาทหินพนมรุ้ง

       ข้ามผ่านเส้นแบ่งเวลากลับไปยังอาณาจักรขอมโบราณอันรุ่งเรืองในอดีตที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือปราสาทหินพนมรุ้งกันดีกว่า ปราสาทหินพนมรุ้งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถาปัตยกรรมอันเลื่องชื่อของภาคอีสาน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ คำว่าพนมรุ้งนั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ เพราะตัวปราสาทหินพนมรุ้งเองก็ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วเช่นกัน มุมยอดนิยมของตัวปราสาทที่ใครได้มาต้องไม่พลาด คือการชมทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อันเลื่องชื่อที่ถูกขโมยไปจากตัวปราสาทไปอยู่ที่อเมริกานานถึงเกือบ 30 ปี ด้วยความงดงาม อ่อนช้อย แข็งแรงทรงพลังนี่เอง จึงทำให้ปราสาทหินแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็นปราสาทพี่ปราสาทน้องของนครวัดเลยก็ว่าได้

ที่พักบุรีรัมย์ : คลิกที่นี่


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - สุโขทัย


 

       หนึ่งในเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยอันรุ่งเรือง นอกจากอยุธยาแล้ว ต้องมีชื่อสุโขทัยอยู่อย่างแน่นอน เพราะหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองเหล่านั้นก็ยังปรากฎให้พวกเราเห็นอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ บนพื้นที่กว้างใหญ่แห่งนี้เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญต่างๆมากมายในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงและวัดเก่าแก่มากมาย จนองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลก มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ไม่ว่าคุณจะเดินเท้าหรือจะขี่จักรยานเที่ยวชมก็ได้บรรยากาศไปคนละแบบ

ที่พักสุโขทัย : คลิกที่นี่


เรียบเรียงโดยชิลไปไหน


เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai