0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

เตือนภัย !! พิษร้ายและวิธีป้องกันจากแมงกะพรุนกล่อง อันตรายใต้ทะเล

calendar_month 08 ต.ค. 2015 / stylus Admin Chillpainai / visibility 6,290 / ข่าวท่องเที่ยว

เตือนภัย !! พิษร้ายและวิธีป้องกันจาก

"แมงกะพรุนกล่อง" อันตรายใต้ทะเล


       ปฏิเสธไม่ได้ว่าทะเลเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย โดยเฉพาะทะเลไทย แต่ล่าสุดกลายเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจขึ้นอีกครั้ง หลังนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันลงไปเล่นน้ำทะเลในช่วงค่ำที่หาดละไม เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวรายแรกที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับพิษร้ายแรงของเจ้าแมงกะพรุนกล่อง วันนี้ชิลไปไหนจึงมีความรู้และวิธีการป้องกันหากได้รับอันตรายจากแมงกะกรุนกล่องมาฝากจ้า...

แมงกะพรุนกล่องคืออะไร

แมงกะพรุนทุกชนิดมีเข็มพิษ โดยเข็มพิษอยู่ในเซลล์ยิงเข็มพิษ จะอยู่ตามหนวดของแมงกะพรุน
แมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในทะเลเขตร้อนในอินโด-แปซิฟิก (ออสเตรเลียเขตร้อน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานไปถึงฮาวาย) มีอยู่ 10-11 ชนิดในเมืองไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือหนวดเดี่ยว (พิษน้อยหน่อย) กับหลายหนวด (พิษแรง) หนวดของแมงกะพรุนกล่องบางชนิดอาจยาวถึง 3 เมตร ยืดหดได้

‪เรามีวิธีป้องกันอย่างไร

แมงกะพรุนกล่องพบได้ทั่วไปในทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่พบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่า อยู่ตามชายฝั่งและเกาะใกล้ฝั่ง สามารถพบในเขตน้ำตื้นบริเวณที่คนเล่นน้ำได้
แมงกะพรุนกลุ่มนี้มักพบในช่วงหน้าฝน (เหมือนแมงกะพรุนทุกชนิด) พบทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีรายงานจากออสเตรเลียว่าส่วนใหญ่คนจะโดนตอนบ่ายไปถึงตอนเย็น แต่ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุแน่ชัด

แมงกะพรุนชนิดนี้ไม่ค่อยล่องลอยอยู่บนผิวน้ำ มักอยู่ใต้ผิวน้ำ เนื่องจากน้ำทะเลชายฝั่งเมืองไทยค่อนข้างขุ่น แมงกะพรุนตัวใส ขนาดเล็ก โอกาสที่จะมองเห็นมีน้อย นอกจากนี้ กะพรุนกล่องยังเป็นแมงกะพรุนที่เคลื่อนที่เร็วเมื่อเทียบกับกะพรุนชนิดอื่น
การป้องกันคือสังเกตทะเล หากเป็นช่วงหน้าฝน น้ำขุ่น อย่าลงน้ำหรือถ้าอยากลงจริง อยากให้อยู่บริเวณติดฝั่งตรงคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่น ควรใส่ชุดปกปิดให้มิดชิด ในต่างประเทศมี Stinger Suit แต่เมืองไทยหายากราคาแพงมาก การใส่ชุดอื่น เช่น กางเกงวอร์ม ฯลฯ อาจป้องกันได้ แต่ระวังทำให้เราจมน้ำนะจ๊ะ



กรณีที่ผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวดี (หายใจไม่ปกติ และชีพจรเต้นไม่ปกติ)
 
1. ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาก่อน โดยกดบริเวณหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย
2. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
3. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการถูบริเวณแผล
4. นำตัวส่งโรงพยาบาล

กรณีที่ผู้บาดเจ็บรู้สึกตัวดี (หายใจปกติ และชีพจรปกติ)
 
1. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
2. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณแผล
3. นำตัวส่งโรงพยาบาล
 
ศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โทร. 1669 


 
เรียบเรียงโดย ชิลไปไหน
ที่มาและรูปภาพของข้อมูล : 
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก 
และเฟซบุ้คอาจารย์ 
Thon Thamrongnawasawat

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai