0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ทริป 3 วัน 2 คืน เที่ยวหมู่บ้านชาวเขา ดูนาขั้นบันได นอนโฮมสเตย์หลังเล็กในเชียงใหม่ จังหวัดที่ใครๆก็หลงรัก

calendar_month 31 มี.ค. 2022 / stylus Admin Chillpainai / visibility 225,255 / ทริปตัวอย่าง

 





Story & Photo : แก๊งค์ลูกแมว

มีเวลา 3 วัน 2 คืน และอยากหลบหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่ ผู้คนมากมาย คงไม่มีที่ไหนเหมาะจะให้เราไปใช้ชีวิตช้าลง แบบอำเภอเล็กๆในเชียงใหม่อย่างอำเภอกัลยาณิวัฒนากันอีกแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าแพลนของเราในการไปเชียงใหม่ครั้งนี้จะมีอะไรบ้าง ก็ตามไปดูกันเล้ยยย...

 



เยี่ยมชมโครงการหลวง นอนโฮมสเตย์ชาวเขา

 

06.40 น. เราออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปยังจังหวัดเชียงใหม่กันด้วยเครื่องบิน

07.55 น. 
ใช้เวลาเพียงชม.กว่าๆ จากกรุงเทพฯก็แลนด์ดิ้งถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ แต่ก่อนที่จะออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นในแพลน เราแวะมาฝากท้องเติมพลังกันที่ร้านโจ๊กต้นพยอม โจ๊กเจ้าเก่าขึ้นชื่อใกล้สนามบินเชียงใหม่กันก่อน เพราะเช้าๆ แบบนี้โจ๊กหมูหน้าตาหอมน่าทาน และปาท่องโก๋ดิพกำลังรออยู่




 



10.00 น. อิ่มท้องกับมื้อเช้าจนพลังเหลือเฟือแล้ว เป้าหมายแรกที่เรามา คือ การเยี่ยมชม "โครงการหลวงหนองหอย" ที่อ.แม่ริม 1 ใน 38 ศูนย์โครงการหลวง 5 จังหวัดภาคเหนือ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัย ทดสอบพืชผักเมืองหนาวชนิดใหม่ๆ รวมถึงเป็นการส่งเสริม-รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากชาวเขา และเกษตรกรทดแทนอาชีพเดิมอย่างการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ที่สำคัญการรับซื้อผลผลิตทุกครั้งต้องผ่านห้องตรวจวัดระดับสารเคมี ด้วยโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อคำนึงถึงถึงผู้บริโภคให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเป็นหลัก จึงมั่นใจได้ว่าพืชผักของที่นี่ปลอดสารพิษแน่นอน 







 
       นอกจากเป็นพื้นที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรแล้ว ในบริเวณโครงการหลวงยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ หรือนิสิตนักศึกษาที่อยากมาดูงานอีกด้วย เพราะที่นี่เขามีการสาธิตการปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโพนิค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน การปลูกสมุนไพรต่างประเทศ อย่างชาสมุนไพร 7 ชนิด ที่ได้ลองชิมแล้วต้องขอบอกเลยว่าลมหายใจหอมสดชื่นสุดๆ แถมดีต่อระบบย่อยอารหารจนอดใจไม่ไหวต้องซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับมา แอบได้ยินหัวหน้าโครงการกระซิบแว่วๆว่าคนเป็นเบาหวานก็ดื่มได้ ไม่เป็นอันตรายด้วย





 
กิจกรรมของโครงการหลวง 

1. กิจกรรมปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า จัดขึ้นทุกปี เพื่อคืนพื้นที่ป่า โดยปีนี้ปลูกที่ม่อนร่อง
 2. กิจกรรมการทำแนวกันไฟ เพื่อส่งเสริมให้มีป่าไม้อยู่รอดเพิ่มมากขึ้น จัดขึ้นเฉพาะช่วงเดือนม.ค. - ก.พ.


 
       ขับรถออกจากโครงการหลวงฯมาไม่กี่ร้อยเมตร เราก็ได้พบกับ "ม่อนแจ่ม" สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในปีที่ผ่านมาของจ.เชียงใหม่ ในจุดชมวิวที่สวยที่สุด มองเห็นบรรยากาศของขุนเขาได้แบบ 360 องศา ท่ามกลางทุ่งดอกไม้หลากสีสัน ตัดกับท้องฟ้าสีคราม หลังจากเดินเล่นรับอากาศเย็นๆตามไหล่เขาไปเรื่อย และใช้เวลาถ่ายรูปจนเต็มที่ เราก็ออกเดินทางกันต่อ










12.00 น. : ถึงเวลากลางวัน เรามาหาอะไรทานกันที่ "บ้านสวนแม่ริม" ร้านอาหารริมน้ำบรรยากาศดี ร่มรื่นด้วยต้นไม้รายล้อม คลอเคล้าไปกับเพลงคันทรีเบาๆ ช่วยให้เจริญอาหาร ถ้าใครอยากชิมอะไรใหม่ๆ เราขอแนะนำให้ลองสั่งอาหารตามฤดูกาลดูสิ
 











13.00 น. ออกเดินทางต่อไปยังอ.กัลยาณิวัฒนา โดยเส้นทาง 1095 เชียงใหม่ - ปาย

17.00 น. เรามาถึงอ.กัลยาณิวัฒนา อำเภอเล็กน่ารักแต่แสนอบอุ่น ก่อนจะนัดพบกับหัวหน้าชุมชนหน้าอบต.บ้านจันทร์ เพื่อนั่งรถปิ๊คอัพของชุมชน เข้าไปยังอำเภอห้วยฮ่อม ที่พักของเราในคืนนี้
 



 
       โฮมสเตย์ที่เราจะพักในคืนนี้ดำเนินการโดยกลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวปกาเกอะญอ จำนวนกว่า 80 หลังคาเรือน คำว่า "เหล่อชอ" เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า หินสามก้อนบนเตาไฟสำหรับใช้ประกอบอาหาร หมายถึง หมู่บ้านทั้งสาม ได้แก่ บ้านห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก ตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา และไหล่เขาที่เชื่อมกัน ท่ามกลางป่าสนที่สวยงามจึงทำให้มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี
 





 
18.30 น. หลังจากแวะไหว้พระศรีกัลยาณิวัฒมุนีเพื่อความเป็นสิริมงคล เดินชมวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่นี่แล้ว เราก็ได้ฤกษ์เอาสัมภาระมาฝากไว้ที่โฮมสเตย์และรอทานมื้อเย็นด้วยฝีมือเจ้าของโฮมสเตย์ที่เราพัก 
 





       มื้อเย็นวันนี้ พี่เล็ก นภาพร หรือ พี่แจพอ ในภาษาปาเกอะญอ ทำเมนูแกงหมูต้มยำ น้ำพริกปลาย่าง ผักหนาม และไข่เจียวให้เราทาน ปิดท้ายด้วยผลไม้อย่างสับปะรดรสชาติหวานฉ่ำ ใครอยากมาที่นี่แล้วกลัวว่าจะทานอาหารไม่ได้ ตัดปัญหาไปได้เลย เพราะทุกมื้อในแต่ละวันจะมีไข่เจียวรวมอยู่ด้วย แต่สำหรับเราดันติดใจอาหารชาวบ้านของที่นี่เข้าซะแล้วสิ
 

       หลังจากท้องอิ่มแล้วก็พักผ่อนตามอัธยาศัย นี่คือหน้าตาโฮมสเตย์ของเรา เนื่องจากอำเภอกัลยาณิวัฒนาตั้งอยู่ในหุบเขาและอากาศค่อนข้างหนาวเย็นในช่วงกลางคืน ที่นี่จึงไม่มีพัดลม เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องทำน้ำอุ่น มีแค่มุ้งหนึ่งหลัง และผ้าห่มนวมหลายผืนไว้คอยบริการ ส่วนเราที่ยังไม่ง่วงก็ออกมาเดินเล่นรับลมหนาว แหงนหน้ามองดูาวที่เต็มท้องฟ้าดื่มด่ำในความสวยงามของธรรมชาตินั่งคุยกับพี่เล็กที่ระเบียงบ้านจนพอใจ ก็ได้เวลาเข้านอนสักที แค่นี้ก็หลับฝันดีแล้วจ้า
 

เกร็ดน่ารู้ : ปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอมีโฮมสเตย์จำนวน 3 หลัง ราคา 150 บาท/คน/คืน ค่าอาหาร 70 บาท/คน/มื้อ และกำลังจะขยายจำนวนโฮมสเตย์เพิ่ม 

การเดินทาง : 
มีรถโดยสารสองแถวสีเหลือง (เชียงใหม่-สะเมิง-วัดจันทร์) ทุกวันจากสถานีขนส่งช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ แต่ควรตรวจสอบเวลารถก่อนเดินทาง
 


เดินเล่นบนนาขั้นบันได ชมวิหารเจดีย์ใส่แว่นตา


07.00 : เช้านี้เราตื่นมาแต่เช้า เลยถือโอกาสไปทำบุญกันที่วัดเมื่อวานกันสักหน่อย ก่อนจะบึ่งมอเตอร์ไซต์กลับมาทานมื้อเช้าที่มีแกงแยง (ต้มผักกาดแห้ง) ข้าวเบอะ (ข้าวต้มหมู-ไก่ใส่ยอดฟักทอง) ไข่เจียว และสาลี่กันที่โฮมสเตย์ เพื่อเตรียมตัวไปเดินเล่นกันที่นาขั้นบันไดกันต่อ
 

 
9.00 น. : การเดินเล่นบนนาขั้นบันได คือ โปรแกรมไฮไลท์ของวันนี้จ้า ขนาดยืนมองด้วยตาเปล่ายังรู้สึกได้ถึงความกว้างใหญ่สวยงามของสีเขียวที่อร่ามไปทั่วทั้งพื้นที่ พี่เช ประธานกลุ่มชุมชนพาเราเดินชมบรรยากาศโดยรอบด้วยการเดินลัดเลาะบนคันนาเล็กๆ ที่มีต้นกล้าปักอยู่เป็นจำนวนมากลดหลั่นกันในลักษณะของขั้นบันได เพื่อให้ข้าวได้รับน้ำที่พอเหมาะจากแปลงหนึ่งไปสู่อีกแปลงหนึ่ง ตลอดระยะทางถือว่าทดสอบการทรงตัวพอสมควร เพราะถ้าเดินไม่ดี หรือเซแค่นิดเดียวก็มีสิทธิที่จะลื่นตกคันนาได้ง่ายๆ

Tip :
 - การเดินชมนาขั้นบันได ใช้ระยะเวลาเดินทางนานพอสมควร
 - หากวันไหนฝนตกอาจมีทากดูดเลือด ควรฉีดซอฟเฟลหรือทาโลชั่นกันยุงป้องกันไว้ล่วงหน้า
 - ในบางช่วงอาจมีโคลน หรือเลนลื่นๆ หากกลัวรองเท้าผ้าใบสกปรก แนะนำว่าใส่รองเท้ายางหรือรองเท้าแตะดีกว่า

 





 
       เดินมาหลายพักใหญ่จนเกือบหมดแรง พี่เชก็พาเรามานั่งพักกันที่กระท่อมน้อยปลายนาเพื่อลงมือทำข้าวเหนียวเมตอซูย่าง อาหารว่างพื้นเมืองของชาวปกาเกอะญอที่มีลักษณะคล้ายข้าวหลามของบ้านเรา เพียงแต่ใช้ต้นกล้วยไม้เมตอซูที่มีลักษณะเป็นปล้องมาตัดทำความสะอาด กรอกข้าวเหนียว ตามด้วยน้ำลงไป ก่อนจะนำขึ้นย่างบนเตาไฟจนสุก ส่งกลิ่นหอมเย้ายวนชวนให้แกะทานพร้อมกับจิบชาร้อนๆจากถ้วยไม้ไผ่ 
 









พักจนหายเหนื่อยแล้วก็เดินทางต่อ เพื่อไปสู่เป้าหมายต่อไป


 

 

Tip :
- ฤดูหนาวช่วงเดือนม.ค. - ก.พ. จะหนาวมาก
- ช่วงเดือนพ.ย.ของทุกปีจะเป็นช่วงเกี่ยวข้าวต้นฤดูหนาว ได้ความสวยงามไปอีกแบบ
 - ในช่วงสิ้นปีจะมีประเพณีชาวบ้าน คือ การมัดมือ (ผูกข้อมือ) โดยคนแก่ปีละ 2 ครั้ง


 
 
12.00 น. : ออกจากนาขั้นบันไดเราเดินทางมากันที่ท้ายหมู่บ้านเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย และวิธีการทอผ้าของชาวบ้าน ซึ่งวิธีสังเกตหญิงสาวที่ยังโสด หรือแต่งงานแล้วก็คือ หากหญิงสาวคนไหนใส่ชุดเชวาที่มีลักษณะเป็นชุดตัวยาวสีขาวล้วน นั่นหมายถึงว่าหญิงสาวผู้นั้นบริสุทธิ์ ยังไม่แต่งงาน แต่หากหญิงสาวคนไหนใส่ชุดเชซู หรือชุดที่มีลวดลายปักลูกเดือยสวยงาม ก็แปลได้ว่าหญิงสาวผู้นั้นแต่งงานแล้วนั่นเอง สำหรับใครอยากซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกก็เลือกช้อปได้ตามใจชอบเลย
 







13.30 น. : รับประทานกลางวันด้วยฝีมือชาวบ้านกันอีกสักมื้อ

15.00 น. : บ่ายๆแบบนี้เราบุกป่าฝ่าดงด้วยรถปิ๊คอัพชุมชนเพื่อหนีร้อนมาพึ่งลมเย็นๆกันที่อ่างเก็บน้ำ "นาอูหรู่" หรือ "น้ำออกรู" ตามชื่อที่มาของต้นกำเนิดแหล่งน้ำในภาษาบ้านเรา นอกจากจะเป็นแหล่งต้นน้ำแล้ว บริเวณนี้ยังถือเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาด้วยนะ คงไม่ต้องบอกเลยใช่มั้ยว่าปลาของที่นี่จะตัวใหญ่มากขนาดไหน 
 





 
15.00 น. ทำบุญให้อาหารปลากันไปแล้ว สถานที่ต่อมาของเราก็คือการมาชมวิหารใส่แว่นตาสุดเท่แห่งเดียวในไทย เหตุผลที่วิหารแห่งนี้มีลักษณะใส่แว่นตาก็เพราะสร้างขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงต้องเจาะกำแพงด้านบนใส่กระจก เพื่อให้เกิดเป็นแสงสว่างสาดส่องเข้ามาภายในนั่นเอง 
 





 
       มาถึงที่แล้วขอไหว้พระสักหน่อยแล้วกัน ลุงจำรัสไกด์ของเราเล่าให้ฟังว่า พระพุทธรูปที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้เคยถูกคนร้ายขโมยไปจากวิหาร แต่คนขโมยคนแล้วคนเล่ากลับมีอันเป็นไปเกือบทุกราย ส่วนคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่รอดก็กลายเป็นคนตาบอด
 



17.30 น. : ถัดมาจากวิหารใส่แว่นตา เรามาแวะไหว้พระพุทธเมตตามหามารดรธรณีศรีสุพรรณกัลยา สีขาวล้วนองค์ใหญ่ภายในวิหารไม้สักทองที่ตัววิหารเหลืองอร่ามดูสวยงาม สมเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาของทางภาคเหนือ เลยถือโอกาสทำบุญ อธิษฐานขอพรไปอีกรอบ มาเที่ยวแล้วยังได้ทำบุญอีกแบบนี้ อิ่มอกอิ่มใจจริงๆเลย
 



 
18.30 น. : สถานที่สุดท้ายของวัน เรานั่งหลังปิ๊คอัพไต่เขากันมาเพื่อปลายทางที่ "โขว่โพหลู่" สถูปโบราณอายุเก่าแก่ พร้อมกับการชมวิวทิวทัศน์อันกว้างไกลของชุมชนบ้านวัดจันทร์ไปพร้อมๆกับการชมพระอาทิตย์ตกดิน ก่อนจะลงมาแวะรับประทานอาหารเย็น แล้วเตรียมตัวเข้าที่พักของคืนนี้กัน

กลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ

- ค่าผู้นำเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตในชุมชน 300 บาท/วัน/กลุ่มไม่เกิน 10 คน
 - 
ค่าผู้นำเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 600 บาท/วัน/กลุ่มไม่เกิน 5 คน
- ค่าชมกิจกรรม กลุ่มอาชีพ เช่น ทอผ้า ปักผ้า จักสาน 100 - 600 บาท/กิจกรรม/กลุ่มไม่เกิน 10 คน
ค่าบริการรถนำเที่ยวภายในหมู่บ้าน 200 - 500 บาท/คัน (รับได้สูงสุด 10 คน)
ค่าบริการรถเดินทางระหว่างตำบล 2,000 บาท/คัน (รับได้สูงสุด 10 คน)

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : คุณฤทธิศักดิ์ ศรวันเพ็ญ โทร.080-859-2978


 

สูดโอโซนยามเช้า ช้อปของฝากแบบจุใจที่ดอยคำ

 
06.00 น. : วันนี้เราก็ยังขยันตื่นเช้าอีกเช่นเคย เพื่อมาสูดโอโซนยามเช้า เก็บเอาอากาศสดชื่นก่อนกลับกรุงเทพกันที่ "อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ" อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในวัดจันทร์ที่หล่อเลี้ยงคนหลายชุมชนมาอย่างยาวนาน ในบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยป่าสนสองใบ และสามใบจำนวนมาก

        เสียดายว่าเช้านี้ฟ้าปิด แถมยังมีเมฆมาก เพราะฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล ใกล้จะตกอีกรอบ เลยอดได้เก็บภาพสวยๆ ตอนที่แดดยามเช้าส่องผ่านป่าสนเกิดเป็นหมอกจางๆ ลอยอยู่เหนือผิวน้ำแบบปางอุ๋งเลย


08.00 น. : รับประทานอาหารเช้าก่อนเดินทางต่อ






09.00 น. : ออกเดินทางต่อไปยัง อ.เชียงดาวจ้า

12.00 น. : ก่อนจะถึงปลายทางสุดท้าย เราแวะมาหาอะไรทานกันที่ "ร้านพรเพ็ญขาหมูเสวย" ร้านขาหมูขวัญใจของชาวเชียงดาว และนักเดินทางขาจรทั้งหลาย เพราะเป็นเวลาเที่ยงคนเลยค่อนข้างเยอะเล็กน้อย แต่รอไม่นาน ขาหมูขาใหญ่ก็มาเสิร์ฟ เนื้อนุ่มมาก แถมน้ำราดยังอร่อยกำลังดี ไม่เลี่ยนเลย
 
 





 
13.00 น. : ก่อนเก็บกระเป๋ากลับเมืองกรุง เรามาเดินชม "พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)" กัน ที่นี่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และการพัฒนาพื้นที่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการลดพื้นที่ปลูกพืชยาเสพติดอย่างฝิ่นบนดอยอ่างขางของชาวมูเซอดำ และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการปลูกพืชเมืองหนาวมากขึ้น 
 









       เราเดินชมประวัติโครงการกว่าจะมาเป็นโครงการหลวงและกระบวนการผลิตสินค้าอย่าง "ดอยคำ" ไปเรื่อย จนในที่สุดก็มาถึงห้องสุดท้าย คือ ห้องจำหน่ายของฝากในนามดอยคำนั่นเอง ต้องขอบอกเลยว่า โรงงานหลวงแห่งนี้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดโรงงานสีเขียวด้วยล่ะ ส่วนของฝากก็มีให้เราเลือกช้อปกันอย่างจุใจ ไม่ว่าจะของกิน หรือของใช้ล้วนแล้วแต่จำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล ที่สำคัญยังถือเป็นการช่วยอุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

 


16.00 น. : ตอนนี้เราเดินทางกลับมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่แล้ว และกำลังเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อเช็คอินกลับกรุงเทพ


        การเดินทางมาเชียงใหม่ในครั้งนี้ ถือว่าคุ้มสุดๆเลยล่ะ จากเดิมที่เคยหลงรักเชียงใหม่อยู่แล้ว วันนี้เรายังได้พบเห็นเชียงใหม่ในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยพบเจอ ยังไงถ้ามีเวลาว่างก็ลองมาเที่ยวกันดูนะจ๊ะ แล้วคุณจะหลงรักเชียงใหม่เพิ่มขึ้นแบบเราแน่นอน

 
26

 
 


 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai