calendar_month 01 มิ.ย. 2015 / stylus Admin Chillpainai / visibility 79,877 / เที่ยวต่างประเทศ
จากแต่ก่อนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปยุโรป เพราะติดใจในความน่ารักของหนุ่มญี่ปุ่นเลยหลงอยู่ดินแดนอาทิตย์อุทัยซะหลายปี พอคิดถึงยุโรปก็คิดเอาเองว่าต้องใช้เงินเยอะแน่ๆ จ่ายเป็นแสนชัวร์ และเหตุผลสุดท้ายผู้ชายไม่น่ารักโมเอะ
แต่อยู่ดีๆ ที่บังเอิ๊ญ บังเอิญเปิดเจอภาพในอินเตอร์เน็ต (ภาพที่เที่ยวนะจ๊ะ ไม่ใช่ภาพผู้ชาย) กับภาพเมืองง้ามงามที่ชื่อ Hallstatt เมืองริมทะเลสาบในประเทศออสเตรีย ซึ่งในภาพเป็นรูปปราสาทยอดแหลมริมทะเลสาบโดยมีฉากหลังเป็นภูเขา
บัตรเครดิต กระเป๋าตังค์ในมือฮานะมันก็สั่นไปจนหมด รีบไลน์ไปหาน้องสาวของฮานะ บอกนางว่าอยากไปยุโรป นางก็โอเชเซย์เยสทันที โดยที่ตอนนั้นเราสองคนไม่รู้ว่าจะไปเจอกับอะไร ภาษาอังกฤษก็ง่อยเปลี้ย แถมจะต้องเดินทางไปในประเทศที่เขาไม่ใช้ภาษาอังกฤษอีก
ฮานะเริ่มต้นหาข้อมูลจากประสบการณ์ของนักเดินทางท่านอื่นที่ใจดีช่วยวางรูทการเดินทางเส้นทางยุโรปตะวันออก คือ ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ประเทศฮังการี และประเทศออสเตรีย(ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปกลางแต่มีภูมิภาคติดกับสาธารณรัฐเช็กและฮังการี) นักเดินทางหลายท่านลงความเห็นว่า 3 ประทศนี้ค่าครองชีพถูกไม่แพงเหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป และเป็นประเทศที่มีเมืองโรแมนติกมากมาย
สุดท้ายฮานะและน้องสาวก็ตกลงกันว่าทริปของเราคือ ปราก(สาธารณรัฐเช็ก)-บูดาเปสต์(ฮังการี)-เวียนนา(ออสเตรีย)-(ฮัลล์สตัท)ออสเตรีย-ซาลซ์บูร์ก(ออสเตรีย)-เชสกีกรุมลอฟ(สาธารณรัฐเช็ค)-ปราก(สาธารณรัฐเช็ค)
โดยการเดินทางครั้งนี้เราจะไม่ได้ใช้ตั๋วยูโรพาส เนื่องจากบางเส้นทางนั่งรถบัสจะถูกกว่ามากๆ และตั๋วรถไฟถ้าเราซื้อตั๋วเป็นรายเที่ยวหรือพาสย่อยๆ ของการรถไฟในแต่ละประเทศนั้นจะถูกกว่าการซื้อยูโรพาสอีก ซึ่งกว่าฮานะจะสรุปการเดินทางทุกอย่างได้นั้นใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลนานหลายเดือนเลยค่ะ เพราะแต่ละประเทศก็มีการเดินทาง สกุลเงินที่แตกต่างกันออกไป มึนตื้บไปหลายวัน แต่ก็พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่าทริปของเราจะใช้เวลา 11 วัน และตั้งงบไม่เกินคนละ 60,000 บาท
รูทการเดินทางของเราค่ะ สัญลักษณ์ของรถที่ใช้เดินทางฮานะจะอธิบายภายหลังนะคะ
พอได้รูทแล้วก็หาวันลา โดยแพลนว่าจะไปช่วงวันหยุดสงกรานต์เนื่องจากช่วงนั้นมีวันหยุดเยอะ ทำให้ไม่ต้องลาเจ้านายนาน โดยเราวางแพลนการเดินทางของเราคือวันที่ 4-14 เมษายน
ด้วยความกลัวว่าตั๋วช่วงสงกรานต์จะแพงฮานะก็จัดการจองตั๋วทันที ซึ่งเป็นเรื่องพลาดมากๆ เพราะฮานะจองล่วงหน้าประมาณเกือบปี ได้ตั๋วของสายการบินฟินแอร์ราคาไปกลับ 32600 บาท โดยไปลงเครื่องที่ปรากและไปต่อเครื่องหนึ่งครั้งที่สนามบินเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ เวลาต่อเครื่องน้อยไปถึงปรากเย็นๆ วันกลับออกสายๆ
ที่บอกว่าพลาดคือ หลังจากจองตั๋วไปปุ๊บไม่กี่เดือนก็มีโปรสายการบินอื่นในราคาสองหมื่นกว่าบาท ตอนนั้นร้องไห้หนักมากกันเลยค่ะ
ปาดน้ำตาเสร็จก็เริ่มเดินหน้ากันต่อ โดยฮานะไปขอวีซ่าเชงเก้นที่ประเทศออสเตรียเนื่องจากฮานะอยู่ที่ออสเตรียนานที่สุดเลยขอที่นี่และว่ากันว่าที่สถานทูตออสเตรียนั้นมีความเป็นไปได้ที่วีซ่าจะผ่านมากที่สุด (เขาว่ากันมานะ)
เอกสารในการขอวีซ่าตามนี้ค่ะ
1. ใบคำร้องขอวีซ่าที่กรอกข้อมูลทุกอย่างโดยสมบูรณ์ 1ชุด
2. สำเนาหน้าหนังสือเดินทาง จำนวน 2 ใบ
3. รูปถ่ายสีที่มีพื้นหลังสีขาว และเป็นรูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
4. ประกันภัยการเดินทาง (สามารถตรวจสอบรายละอียด และ บริษัทประกันภัยที่ได้รับการยอมรับ) 30,000 ยูโร( Travel insurance not Health insurance )
5. หนังสือรับรองการทำงาน 1 ฉบับ ให้ระบุ อาชีพ เงินเดือน และระยะเวลาในการทำงาน ( เป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาเยอรมัน ) หรือ กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้ใช้ใบจดทะเบียนการค้าที่มีชื่อผู้สมัคร ( ส่วนกรณีที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ผู้สมัครจำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงถึงที่มาของรายได้ในชีวิตประจำวัน ) ถ้าเป็นนักเรียนต้องมีหนังสือรับรองการเป็นนักเรียน หรือ นักศึกษา
6. เอกสารทางการเงิน เช่น ( สมุดบัญชีธนาคาร ย้อนหลัง 6 เดือน พร้องอัพเดทล่าสุด หรือ Bank Certificate จากธนาคาร ในกรณีที่มีการ support หรือ ออกค่าใช้จ่ายให้ จำเป็นที่จะต้องทำหนังสือ Sponsor letter ( เป็น บิดา มารดา หรือ สามี ภรรยา ) พร้อมแนบเอกสารเชื่อมโยงความสัมพัน อาทิ เช่น ทะเบียนสมรส หรือ สูติบัตร พร้อม แปล ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาเยอรมัน หากในกรณีที่ผู้สมัครมีคนเชิญจากทางออสเตรียแล้วก็ตามถ้าผู้สมัครประกอบอาชีพก็มีความจะเป็นที่จะต้องแสดงรายได้ของตัวเองด้วยเช่นกัน
7. ใบจองตั๋วเครื่องบิน ( Ticket Reservation ) จะต้องเป็นหัวของสายการบินนั้นๆที่ผู้สมัครจองโดยทางสถานทูตจะไม่รับใบจองตั๋วผ่านทาง Travel Agency
8. ในการณี มีการเชิญจากเพื่อนที่เป็นชาว Austria ให้ผู้สมัคร แสดง Code เชิญจากสถานีตำรวจที่ ออสเตรีย พร้อมทั้งแสดง หน้า หนังสือเดินทางของคนเชิญ ประกอบด้วย ( ในกรณีไปพักกับเพื่อน ญาติ หรือ คุ่สมรส )
9. เอกสารเกี่ยวกับที่พัก (Hotel Booking ) จำเป็นต้องครอบคลุมตลอดระยะเวลาการเดินทาง ให้ต่อเนื่องกับตั๋วเครื่องบินของผู้สมัครและจะต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือ ภาษาเยอรมันเท่านั้นรวมถึงต้องระบุที่อยู่ของที่พักให้ชัดเจน
10. ค่าธรรมเนียมวีซ่าต้องชำระในวันที่ยื่นคำร้องขอวีซ่า ( จะเปลี่ยนประจำทุกเดือนขึ้นอยู่กับค่าเงินในเดือนนั้นๆ
10.1 ตารางการเดินทางในกรณีที่ผู้สมัคร เดินทางมากกว่า 1 ประเทศ ให้ระบุว่าผู้สมัครจะมีเดินทางไปที่ไหนบ้าง หรือ ในกรณีพำนักแค่ในประเทศออสเตรียประเทศเดียวหลายวันให้ทำด้วยเช่นกันว่าผู้สมัครเดินทางไปเที่ยวที่ไหนบ้าง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ http://www.vfsglobal.com/austria/thailand/thai/all_about_visa.html
ซึ่งตอนนี้หลายสถานทูตของยุโรปในเมืองไทยได้เปลี่ยนมาเป็นการขอวีซ่าผ่านตัวแทน VFS โดยเราจะต้องไปทำเรื่องของที่ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าประเทศออสเตรีย ตึกสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 15 ยูนิต C สีลมคอมเพล็กซ์ ข้อดีคือเราไม่กดดันเพราะบรรยากาศผ่อนคลายกว่าไม่เหมือนเวลาไปสถานทูตที่เกร็งทุกครั้ง แต่ข้อเสียคือค่าธรรมเนียมโหดมากๆ รวมแล้วประมาณ 3500 บาท และตอนที่ฮานะไปขอนั้นยังไม่มีการนัดหมายใครไปยื่นก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องทำการนัดหมายผ่านเว็บไซต์ของ VFS ก่อนนะคะ แล้วปริ้นท์ใบนัดหมายไปด้วย
ใช้เวลาดำเนินการประมาณหนึ่งอาทิตย์ทาง VFS ก็โทรมาบอกว่าให้เราไปรับพาสปอร์ต ซึ่งทางเขาก็ไม่รู้ว่าผ่านหรือไม่ผ่านเพราะพาสปอร์ตส่งมาจากสถานทูตออสเตรียต้องไปลุ้นจนตัวโก่งที่หน้า VFS แต่ของน้องสาวฮานะมีปัญหาเล็กน้อยเลยต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม
ส่วนการแลกเงิน เราจะต้องแลกเงินเป็นยูโรจากเมืองไทยไปก่อนนะคะ แล้วค่อยไปแลกเป็นเงินสกุลของประเทศนั้นๆ ในแต่ละประเทศ โดยสาธารณรัฐเช็คใช้เงินสกุล Koruny เช็ก (CZK) ประเทศฮังการีใช้เงินสกุลโฟรินท์ฮังการี (HUF) ส่วนออสเตรียใช้เงินยูโรค่ะ
และที่สำคัญการเดินทางครั้งนี้สิ่งที่ต้องเตรียมไปคือไวไฟค่ะ เพราะยุโรปนั้นไม่ค่อยมีไวไฟฟรีเท่าไร โดยฮานะได้เช่าเครื่องพ็อคเก็ตไวไฟของ Global Wifi จากเมืองไทยไปใช้ที่ยุโรป โดยสามารถทำการสั่งจองออนไลน์ผ่านทาง http://globalwifi-thai.com/ ได้ ค่าเช่าสำหรับสามประเทศตลอด 11 วันราคาประมาณห้าพันกว่าบาท แต่สามารถแชร์ให้น้องสาวได้ และสามารถเลือกสถานที่การรับ-ส่งคืนเครื่องได้ ทั้งที่บ้านหรือที่สนามบินก็ได้สะดวกมากๆ
การมีพ็อคเก็ตไวไฟเอาไว้นั้นทำให้เราอุ่นใจและช่วยให้การเดินทางไปในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคยสะดวกมากๆ ไม่ว่าจะหาเส้นทางที่พัก หาข้อมูลที่เที่ยว และยังให้เราได้ติดต่อสื่อสารกับครอบครัวได้แบบเรียลไทม์เลยล่ะค่ะ
เแพลนการเดินทางของฮานะ
วันที่ 1 : เดินทางจากไทยไปต่อเครื่องที่สนามบินเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์และบินต่อไปยังสนามบินกรุงปรากประเทศสาธารณรัฐเช็ก - เช็คอินที่ Charles Bridge Economic Hostel
วันที่ 2 : เที่ยวกรุงปรากแล้วนั่งรถไนท์บ์บัสของ Oranges Ways ไปยังเมืองบูดาเปสต์ประเทศฮังการี - นอนบนรถ
วันที่ 3 : เทียวเมืองบูดาเปสต์ - เช็คอินที่ Pal's Hostel
วันที่ 4 : นั่งรถบัส Oranges Ways ไปยังเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เที่ยวเมืองเวียนนา - เช็คอินที่ Wombats City Hostel Vienna - at the Naschmarkt
วันที่ 5 : นั่งรถไฟไปยังเมือง Hallstatt ประเทศออสเตรีย - เช็คอินที่ Hotel Haus Am See
วันที่ 6 : นั่งรถไฟไปยังเมือง Salzburg ประเทศออสเตรีย - เช็คอินที่ Yoho International Youth Hostel Salzburg
วันที่ 7 : เที่ยวใน Salzburg
วันที่ 8 : นั่งรถตู้ CK Shuttle ไปยังเมืองเชสกีกรุมลอฟ ประเทศสาธารณรัฐเช็ก - เช็คอินที่ Hostel Krumlov House
วันที่ 9 : นั่งรถบัส Student Agency ไปยังกรุงปราก - เช็คอินที่ Hostel Downtown
วันที่ 10 : นั่งรถบัส Student Agency ไปเที่ยวเมือง Karlovy Vary แบบวันเดย์
วันที่ 11 : กลับเมืองไทย
พร้อมแล้วก็เริ่มออกเดินทางกันเลย
ไฟลท์ของเราเริ่มต้นตอน 8.55 น. โดยจะต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ หนึ่งครั้งก่อนจะเข้าสู่กรุงปราก วันนี้ไม่ต้องบอกเลยค่ะว่าตื่นเต้นเพียงใด เราสองพี่น้องที่เคยไปไกลก็แค่ญีป่น แต่คราวนี้เป็นการเดินทางไกลที่สุดและยังข้ามทวีปเป็นครั้งแรกในชีวิตอีก แค่การได้ยืนมองเครื่องบินของฟินแอร์ทีมาจอดรออยู่น้ำตาก็จะไหลแล้ว (น้ำตาไหลเพราะส่วนหนึ่งแอบเสียใจที่ต้องจ่ายค่าเครื่องบินสามหมื่นกว่าบาท T_T)
ประมาณแปดโมงกว่าๆ ก็ได้ขึ้นไปบนเครื่อง เครื่องลำใหญ่ที่นั่งเป็นแบบ 2-4-2 บนเครื่องเต็มไปด้วยผู้โดยสารชาวต่างชาติผมทอง มีเอเชียผมสีดำไม่กี่คนบนเครื่อง
ลักษณะเครื่องค่อนข้างเก่านิดนึงค่ะ และที่นั่งแคบด้วยขยับขายากมากๆ ส่วนจอค่อนข้างเล็กและไม่มีหนังซับไทย T_T หนังไม่ค่อยใหม่ด้วยค่ะ
แต่แอร์ฯ ของฟินแอร์น่ารักบริการดีทั้งแอร์ฯ คนไทยและแอร์ฯ ชาวต่างชาติ ส่วนอาหารบนเครื่องใช้ได้เลยค่ะ คาดว่าน่าจะมาจากครัวของการบินไทย
เราใช้เวลาบินข้ามทวีปประมาณ 10 ชั่วโมง เครื่องบินก็พาเรามายังเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมืองที่ได้ชื่อว่ามีค่าครองชีพแพงสุดๆ จริงๆ ก็อยากมาดูแสงเหนือที่ประเทศนี้สักครั้งนะคะ แต่คงต้องเก็บตังค์อีกนานกว่าจะได้มา
การแตะยุโรปครั้งแรกตื่นเต้นมากๆ แต่ตื่นเต้นสุดๆ เมื่อเจอกับพี่ตม.ที่เจอคำถามเรื่องแพลนการเดินทาง ฮานะนี่ตอบผิดๆ ถูกๆ แต่โชคดีพี่ ตม.ของฮานะท่าทางใจดี เลยให้ผ่านได้โดยไม่ถามอะไรเยอะ แต่ของยายน้องสาวอุตส่าห์เลือกพี่ตม.ที่หล่อออร่าลุคนายแบบสุดๆ แต่โดนถามยาว ซักละเอียดถ้าเป็นผ้าคงจะขาวไปหมดแล้วค่ะ และสิ่งที่เราได้เรียนรู้สำหรับการผ่านด่านตม.ของยุโรปคือ แพลนการเดินทางกับใบจองที่พัก เราทั้งคู่ประมาทที่ว่ามีวีซ่าแล้วคงจะผ่านง่ายๆ ที่ไหนได้เขาถามเยอะเหมือนกันนะคะ เพื่อนๆ คนไหนที่จะไปก็อย่าลืมพกไปนะคะ ส่วนสิ่งที่แตกต่างจากการผ่านเข้าเมืองของฝั่งเอเชียอีกอย่างคือเขาจะไม่มีใบกรอกของตม. คือเพียงยื่นพาสปอร์ตให้ตม.เท่านั้นเขาก็จะพิจารณาว่าจะให้เราเข้าหรือไม่เข้า และผ่านตม.แค่ครั้งเดียวคือที่ฟินแลนด์นะคะ ซึ่งเป็นประเทศแรกในเครือเชงเก้น ส่วนของปรากก็ไม่ต้องผ่าน ตม.แล้วค่ะ
เมื่อผ่านตม. มาแล้วก็เดินไปตามป้าย Transfer โดนเขาจะมีจอบอกเกทของเครื่องบินที่เราจะไปต่อ เกทที่เฮลซิงกิค่อนข้างเยอะและใหญ่พอสมควร ส่วนเกทที่ฮานะจะต้องไปต่อเครื่องจะอยู่ที่เกท 30
เดินเข้ามารอหน้าเกทอย่างมั่นใจพร้อมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มหนึ่ง โดยเวลาที่จะต้องขึ้นเครื่องคือเวลา 17.35 น. ระหว่างนั้นเราสองคนก็เล่นเน็ต ถ่ายรูป เช็คข่าวเมืองไทย คุยกับครอบครัวจนเพลิน มองนาฬิกาอีกทีห้าโมงเย็นแล้ว แปลกใจทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่องสักที ชาวจีนที่มายังคงรอเหมือนกับเรา แต่พอมองตัววิ่งด้านบนที่ย้ำว่าเล็กมากๆ บอกว่ามีการเปลี่ยนเกท เท่านั้นเราสองคนก็ใส่ตีนหมาเลยค่ะ
เฮ้ย คือเปลี่ยนเกทแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอก แล้วพนักงานเมื่อกี้ที่รออยู่หน้าเกทก็หายไปด้วย เราสองคนวิ่งกันมาด้วยความกลัว ปนความรู้สึกผิดที่ไม่ได้บอกชาวจีนกลุ่มนั้น แต่ภาวนาว่าให้พวกเขาเห็นตัววิ่งเล็กๆ ด้านบน
วิ่งกันมาอย่างเหนื่อยก็เห็นผู้โดยสารมายืนรอกันเต็มเลยค่ะ ทั้งโมโหเจ้าหน้าที่ ทั้งความรู้สึกโล่งอก และความเหนื่อย มันปนเปกันไปหมด นั่งหอบกันตรงที่นั่งกันอยู่สองคน นึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าเราสองคนมาไม่ทันและตกเครื่องจะทำอย่างไรกันดี และไม่นานชาวจีนกลุ่มนั้นก็มาถึงเหมือนกับเรา
และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็สอนให้รู้ว่าอย่าชะล่าใจ อย่าเล่นมือถือเพลินให้มีสตีอยู่ตลอดเวลา
เราบินต่อไปอีกประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงสนามบินกรุงปรากแล้วค่ะ
เดินตามป้าย Baggage Reclaim ออกมา
ตู้เอทีเอ็มสามารถกดเงินที่นี่โดยได้เงินเป็น Koruny เช็ก (CZK) ได้เลย
เดินตามป้าย Baggage Reclaim ไปเรื่อยๆ
รอรับกระเป๋า
ด้านตรงข้ามที่รับกระเป๋าเป็นที่แลกเงินนำเงินยูโรมาแลกที่นี่ได้นะคะ
จากนั้นก็เดินไปซื้อตั๋ว โดยข้อดีของการขนส่งในยุโรปนั้นคือตั๋วของเขาจะใช้ได้หมดทั้งรถไฟ รถบัส รถราง ซื้อครั้งเดียวสะดวกสุดๆ โดยภายในสนามบินจะมีเคาน์เตอร์ขายตั๋ว เราสามารถไปซื้อจากเคาน์เตอร์หรือที่ตู้ขายอัตโนมัติก็ได้
ตั๋วโดยสารของกรุงปรากมีดังนี้ค่ะ
- Single 30 minutes Ticket ราคา 24 CZK สามารถนั่งขนส่งสาธารณะทุกชนิดภายในระยะเวลา 30 นาทีหลังจากที่มีการตอกตั๋ว (Validate)
- Single 90 minutes Ticket ราคา 32 CZK สามารถนั่งขนส่งสาธารณะทุกชนิดภายในระยะเวลา 90 นาทีหลังจากที่มีการตอกตั๋ว (Validate)
- 24 Hrs. Ticket ราคา 110 CZK ใช้ได้ 24 ชั่วโมงคือนับจากเวลาที่เราตอกตั๋วเช่นถ้าเราตอกตอน 8 โมงเช้าของวันนี้ก็จะสามารถใช้ได้ก่อน 8 โมงเช้าของวันพรุ่งนี้
- 72 Hrs. Ticket ราคา 310 CZK ใช้ได้ 72 ชั่วโมง
ค่าเงิน 1 Czech koruna = 1.35 บาท (อัพเดตวันที่ 1/6/58) เวลาฮานะคิดจะคิดเป็นเงินไทยไปเลยค่ะ คิดง่ายดี
โดยตั๋วที่ฮานะเลือกคือ Single 90 minutes Ticket ราคา 32 CZK หรือประมาณ 43 บาทโอ๊ยถูกมากๆ
หลังจากซื้อตั๋วแล้วต้องนำตั๋วไปที่เครื่องตอกตั๋วบนรถบัส รถราง หรือทางเข้ารถไฟใต้ดิน โดยวิธีการนำด้านสามเหลี่ยมข้างล่างใส่เข้าไปในเครื่องตอก ซึ่งจะต้องตอกแค่เพียงครั้งแรกครั้งเดียวเที่ยวนั้น แล้วเราก็สามารถใช้ตั๋วนี้ได้ตามเวลาที่ระบุโดยไม่ต้องตอกอีก หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำแบบนี้ไม่มีคนโกงเหรอ ตอนแรกฮานะก็สงสัยแบบนั้นค่ะ แต่เพราะเขาใช้ความเชื่อใจและไว้วางใจซึ่งถ้าใครมาแอ๊บขึ้นโดยไม่ซื้อตั๋ว อาจจะเจอนายตรวจที่เขาจะสุ่มตรวจ และคุณจะต้องเสียค่าปรับมหาโหดสุดๆ
ภาพจาก http://www.prague.fm/
แผนผังระบบขนส่งสาธารณะของกรุงปราก
คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่
จากนั้นเดินออกมาด้านนอกและข้ามถนนมาจะเจอที่รอรถบัส
รถบัสที่เราจะนั่งเข้าเมืองคือสาย 119 ค่ะ โดยเราจะต้องนั่งรถบัสเพื่อไปขึ้นรถไฟใต้ดินสายสีเขียวที่สถานี Dejvicka
รถบัสมาจอดส่งเราที่สถานี Dejvicka
รถไฟมาแล้วค่ะ
มาลงที่สถานี Malostranska
จากนั้นเดินออกจากสถานีรถไฟมายังถนนฝั่งตรงข้ามแล้วมารถรางสาย 12,20 หรือ 22 ที่ป้าย Malostranska เพื่อไปลงป้าย Malostranska Nemesti
พอลงรถปุ๊บเดินมาทางสะพานพระเจ้าชาร์ลส์ หาไม่ยากค่ะ ก็จะเจอที่พัก Charles Bridge Economic Hostel อยู่ติดกับสะพานเลยค่ะ
ถึงแล้วค่ะตึกเก่าสีฟ้านี่แล่ะ
เดินเข้าไปข้างในเลยค่ะ ซึ่งภายในยังเป็นศูนย์ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวอีกด้วย
เจ้าไวไฟดาราประจำโฮสเทล
ซึ่งห้องที่เราจองมาคือ Triple Bed Room ราคา 900 CZK/คน/คืน หรือประมาณ 1200 บาทเท่านั้น พอมาถึงคนดูแลโฮสเทลชื่อลิปเป็นหนุ่มเช็กหน้าละมุน (ที่จะมีเรื่องเล่าสุดประทับใจในตอนต่อไป) ก็พาเราไปชมห้องพักพร้อมแนะนำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (เรื่องเศร้าในทริปนี้คือลืมถ่ายรูปหนุ่มลิปมาให้ชมT_T)
เข้าไปห้องพักก็กรี๊ดเลยค่ะ ห้องพักน่านอนมาก มีเตียง 3 เตียง เตียงด้านบนไม่มีใครนอนตอนแรกเรานึกว่าจะเจอเพื่อนร่วมห้องอีกคน แต่สุดท้ายก็มีเพียงเราสองคน
ห้องนั่งเล่นส่วนกลางมีคอมพิวเตอร์ ทีวี โซฟาให้นั่งชิล
ครัวตรงกลางติดกับห้องนั่งเล่น ที่มีไมโครเวฟ เครื่องปิ้งขนมปัง น้ำร้อน จาน ชาม ใครนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก็มาต้มกินที่นี่ได้
บรรยากาศภายในโฮสเทล
หลังจากเก็บของไว้ในห้องเสร็จ เราก็ออกไปหาอะไรทานซึ่งเป็นอาหารมื้อแรกที่ได้กินในแผ่นดินยุโรป ฟังดูยิ่งใหญ่มากๆ แต่ที่จริงแล้วเราทานไก่ทอดแม็คโดนัลส์ และเพราะไก่นี่แหละที่ทำให้เราสองสาวไทยอยู่รอดได้ในแผ่นดินยุโรป (ฝากเอาไว้เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังกันนะคะ)
ทานอาหารเย็นเสร็จก็ออกมาเดินเล่นถ่ายรูปบริเวณสะพานพระเจ้าชาร์ลส์เล็กน้อย เพราะคืนนี้หนาวมากๆ วันที่เรามาถึงอากาศประมาณ 2 องศา
วิวด้านหน้าโฮสเทลมองเห็นโบสถ์เซ็นต์นิโคลัส
ร้านรวงต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ภายในตึกเก่า
หอคอยสะพานพระเจ้าชาร์ลส์ฝั่งมาลาสตรานา
กรุงปรากในยามค่ำคืน
สะพานพระเจ้าชาร์ลส์ในยามค่ำคืนที่โรแมนติกสุดๆ
ตอนต่อไปฮานะจะพาไปเที่ยวภายในกรุงปราก
และการเดินทางสู่เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการีรอติดตามกันได้เลยจ้า
ค่าใช้จ่าย
ค่าเครื่องบิน = 32600 บาท
ค่าวีซ่า = 3500 บาท
ค่าที่พักที่ = Charles Bridge Economic Hostel 1200
ค่ารถเข้าเมือง = 43 บาท
ค่าเช่าไวไฟหารสอง = 2500 บาท
รวม 39,843 บาท
ตามไปอ่านตอนสองที่นี่เลย>>รีวิวเที่ยวยุโรปฉบับมนุษย์เงินเดือน ตอนที่ 2 เดินเที่ยวปราก
เรื่องและภาพ นางสาวฮานะ
Tags: เที่ยวยุโรป รีวิว การเดินทาง เครื่องบิน ทริป ปราก สาธารณรัฐเช็ก บูดาเปสต์ ฮังการี เวียนนา ออสเตรีย ฮัลล์สตัท ซาลซ์บูร์ก เชสกีกรุมลอฟ
เที่ยวต่างประเทศ | 21 พ.ย. 2024 | 2,140 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 12 พ.ย. 2024 | 963 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 26 ต.ค. 2024 | 1,100 อ่าน
ทริปตัวอย่าง เที่ยวต่างประเทศ | 15 ต.ค. 2024 | 1,404 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ สถานที่ยอดนิยม ที่เที่ยว | 11 ต.ค. 2024 | 1,589 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 24 ก.ย. 2024 | 1,828 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ย. 2024 | 2,569 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 30 ก.ค. 2024 | 3,522 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 19 ก.ค. 2024 | 6,808 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ค. 2024 | 4,424 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ | 16 ก.ค. 2024 | 1,161 อ่าน
เที่ยวต่างประเทศ สถานที่ยอดนิยม ที่เที่ยว | 18 เม.ย. 2024 | 4,408 อ่าน