calendar_month 09 มี.ค. 2015 / stylus Admin Chillpainai / visibility 8,483 / ข่าวท่องเที่ยว
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกในนามของคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเล ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เพื่อบอกเล่าวิกฤตของท้องทะเลไทย และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
จดหมายเปิดผนึกถึงสังคม
กรณี “วิกฤตการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ”
เรียนคนที่รักทะเลทุกท่าน
ผม – ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ – ในนามของคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลคนหนึ่ง ใคร่ขอทำจดหมายฉบับนี้ เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์และข้อเสนอแนะ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้รับแจ้งจากเพื่อน ๆ ผู้รักและเป็นห่วงใยทะเลมาโดยตลอด อย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการจัดการด้านการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล
หลายเรื่องเป็นประเด็นของสังคม จนกลายเป็นข่าวที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีเล่นปลานีโมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี กรณีเรือเลี้ยงปลาทะเลที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติจับสัตว์น้ำมากินและมาเล่นในอุทยานแห่งชาติอีกหลายต่อหลายแห่ง ฯลฯ
บางกรณีจะเป็นประเด็นที่ชัดเจนในอนาคตอันใกล้ เช่น กรณีการท่องเที่ยวที่เกาะตาชัย กรณีเรือประมงลักลอบจับปลาในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีที่มาจากหลายกลุ่ม ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป ผู้ประกอบการ กลุ่มช่างภาพใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล นักวิชาการรุ่นใหม่ องค์กรภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางท่าน ฯลฯ
ประเด็นที่มาจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาเหตุ หลากหลายสถานที่ หลากหลายเวลา และเป็นประเด็นที่เปิดกว้างสู่สังคมผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจและสมควรพิจารณาในรายละเอียด
ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในฐานะข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทะเล ผมถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปทะเลไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมได้จัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ 12 ครั้ง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ตลอดจนการลงพื้นที่ และ/หรือ ขอให้อนุกรรมาธิการฯและทีมงาน ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี ฯลฯ
นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสเข้าพบท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ รวมถึงการอนุรักษ์ทะเลไทย
ผมใคร่ขอสรุปการประมวลข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
1) สภาพทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน กำลังมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด ปะการังร้อยละ 25 หรือกว่านั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) และไม่ปรากฏว่ามีแผนการดำเนินใด ๆ ที่จะฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาเหล่านี้
2) ปัญหาของปะการังบางส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ใน พ.ศ. 2553 ซึ่งในขณะนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ออกคำสั่งให้ปิดจุดดำน้ำบางแห่งเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ปะการังบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับมีการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ
3) การจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือยุทธศาสตร์ ทั้งที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์แรกคือเพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างมาก จนเกิดผลกระทบจนเป็นหลายประเด็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ
ผมขอยกตัวอย่าง “เกาะตาชัย” อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใด ๆ ที่ระบุว่า “เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่”
ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด
แต่ในสถานที่เช่นนี้ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
4) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านทะเลอย่างแท้จริง โดยจะเห็นว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการศึกษาหรือความเชี่ยวชาญในด้านทะเล แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
เป็นที่ทราบกันมานาน และเป็นมาตรฐานสากลว่า การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ความชำนาญด้านนี้
ประเทศไทยได้ผลิตบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์ทางทะเล ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ แต่บุคลากรเหล่านี้กลับไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
5) ระบบการตรวจสอบดูแลทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวไม่ชัดเจน ทำให้มีการจับกุมการกระทำผิดน้อย จนเกิดเป็นประเด็นต่าง ๆ ในสังคม และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางใดที่ชัดเจนในการปรับปรุงระบบดังกล่าว
6) ระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมอุทยาน ตลอดจนการอนุญาตกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ไม่ชัดเจนและโปร่งใส ทำให้เปิดช่องในการกระทำที่มิชอบ
7) มีการนำอุทยานแห่งชาติทางทะเล อันเป็นสมบัติของชาติ ไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นประเด็นที่เป็นที่สังคมให้ความสนใจมาตลอด
ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ และอื่น ๆ อีกมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “วิกฤตการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล”
ผมทราบดีถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละฝ่าย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราพยายามผลักดันแนวทางปฏิรูปเพื่อการแก้ไข เช่น การนำเสนออุทยานแห่งชาติทางทะเลในอันดามันเป็นมรดกโลก ตลอดจนแนวทางแก้ไขอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสสังคมที่อาจต่อเนื่องไปจนทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในการอนุรักษ์และการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย จนอาจทำให้การปฏิรูปประเทศไทยในส่วนนี้เกิดความติดขัด
ผมจึงใคร่ขอเสนอแนะการ “จัดระเบียบอุทยานทางทะเล” ดังนี้
1) ใคร่ขอเสนอให้ผู้มีอำนาจในด้านการบริหาร ผลักดันให้โครงการ “นำเสนออันดามันเป็นเขตมรดกโลก” เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
โครงการปฏิรูปดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการยกระดับการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้ได้มาตรฐานโลก และทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้กับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน
2) ใคร่ขอเสนอให้มีการยกระดับประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการจัดสัมมนาในวงกว้าง เพื่อรวบรมความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จากบุคลหลากหลาย เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภาคประชาชน ผู้สนใจ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
3) ใคร่ขอเสนอให้อุทยานแห่งชาติทางทะเล กระทำตามแผนแม่บทตลอดจนการวิจัยต่าง ๆ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งสมควรอนุรักษ์ ลดหรือหยุดการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนอย่างเร่งด่วน เลิกประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อไป
รายละเอียดต่าง ๆ ของพื้นที่เหล่านั้น อยู่ในแผนแม่บทของอุทยานแห่งชาติ และแผนอื่น ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แผนจัดการระบบนิเวศแนวปะการัง (สผ.) แผนการฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมเนื่องจากกรณีปะการังฟอกขาว (ทช.)
4) ใคร่ขอเสนอให้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบและควบคุมการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น รายงานการตรวจการและจับกุม จัดทำศูนย์รับแจ้งเหตุ เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส พัฒนาระบบอนุญาตและการเก็บค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อให้เป็นอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชมท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแล
5) ใคร่ขอเสนอให้ปรับปรุงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการอุทยานแห่งชาติทะเลเข้าไปมีบทบาทโดยตรง และเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง
6) ใคร่ขอเสนอให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น
ในนามของคนที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางทะเลมาตลอด ผมขอเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถเรียกว่า “วิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยาน” อย่างแท้จริง
และจะเป็นวิกฤตที่มิอาจเยียวยาได้ หากไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างฉับไวและเฉียบขาด
ผมจึงใคร่ขอนำเสนอจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้แก่สังคมไทย เพื่อช่วยกันพิจารณา
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
หมายเหตุ - พร้อมกันนี้ ผมได้แนบภาพความพินาศย่อยยับของแนวปะการังที่หมู่เกาะตาชัยและหมู่เกาะสิมิลัน ที่เพื่อน ๆ กรุณาถ่ายภาพไว้ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบจดหมายฉบับนี้
ภาพจากสิมิลันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ข่าวท่องเที่ยว | 23 ธ.ค. 2024 | 87 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 20 ธ.ค. 2024 | 148 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 19 ธ.ค. 2024 | 176 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 17 ธ.ค. 2024 | 408 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 13 ธ.ค. 2024 | 691 อ่าน