calendar_month 14 ม.ค. 2021 / stylus Admin Chillpainai / visibility 48,965 / ข่าวท่องเที่ยว
สำหรับเจ้าของมือใหม่ ที่เพิ่งรับสุนัขมาเลี้ยง ในช่วงที่อยู่บ้านเหงาๆ ไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าจะฝึกสอนให้สุนัขฟังคำสั่งของคุณยังไง ชิลไปไหนรวม 9 เทคนิคฝึกสุนัขขั้นพื้นฐาน สำหรับเจ้าของมือใหม่ มาฝากบอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด
ฝึกให้จำชื่อให้ได้
เทคนิคแรก - คือการฝึกให้สุนัขจำชื่อของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะสุนัขอายุน้อย หรือสุนัขแก่ เมื่อคุณรับเขามาดูแล คุณควรตั้งชื่อเรียกให้เขา ซึ่งชื่อควรมีเพียง 1-2 พยางค์ เพราะสุนัขตอบสนองได้ดีกับเสียงสั้นๆ จากนั้นคอยเรียกชื่อเขาซ้ำๆ ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนและเป็นมิตร สบตากันเยอะๆ จะทำให้เขาเกิดความสนใจและจดจำเสียงนั้น หลังจากนั้นลองเริ่มทดสอบการจดจำของเขาว่าจำชื่อของตัวเองได้รึยัง ด้วยวิธีส่งทางสายตากับเขาและเรียกชื่อของเขา จากนั้นเมื่อเขาหันมาสบตา คุณต้องกล่าวคำชมเชย ให้เขารู้สึกว่าทำดี ทำถูกต้อง เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของเขา โดยให้เขามองที่ตาของคุณทุกครั้งที่คุณเรียกชื่อของเขา เขาจะจดจำน้ำเสียงของคุณและรับรู้ว่าทุกครั้งที่คุณใช้น้ำเสียงนั้น ที่สำคัญอย่าลืมให้รางวัลทุกครั้งที่คุณเรียกชื่อของเขาด้วย
ฝึกให้เข้าสายจูง
เทคนิค 2 - คือการฝึกให้สุนัขเข้าสายจูง สุนัขที่มีเจ้าของต้องมีสายจูง แล้วคุณเองก็ต้องมีความรับผิดชอบในการเป็นจ่าฝูงให้กับเขา ด้วยการใช้สายจูงในการแสดงความเป็นผู้นำก่อนอื่นคุณจะต้องนำปลอกคอไปให้เขาดม ทำเหมือนว่าคุณให้ของขวัญ เมื่อเขาทำท่าดีใจอยากได้ คุณค่อยใส่ให้เขา เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับปลอกคอที่ได้รับแล้ว ให้นำสายจูงไปติดกับปลอกคอ แล้วให้เขาลากเล่นไปเรื่อยๆจนเริ่มคุ้นชินกับสายจูง คุณต้องพาเค้าเดินไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับใช้สายจูง เป็นตัวเชื่อมคำสั่งระหว่างคุณกับสุนัข ส่วนเรื่องความยากง่ายในการบังคับทิศทางจะขึ้นอยู่กับนิสัยของสุนัขแต่ละตัวและความเป็นจ่าฝูงของคุณ อย่าให้เขาวิ่งนำหน้าคุณ เพราะจะทำให้คิดว่าเขาเป็นผู้นำหรือจ่าฝูง คุณจึงควรรีบกระตุกสายจูงเบา ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปรามเขา ควรฝึกควบคุมเขาผ่านสายจูงเพื่อให้ก้าวขาอย่างต่อเนื่อง และทำเป็นประจำทุกวัน โดยสายจูงที่ใช้จะต้องพอดีความยาวแขนคุณ สามารถควบคุมเขาได้ถนัด และระหว่างเริ่มออกเดิน คุณต้องสงบ ผ่อนคลลาย ไม่เกร็ง ไม่งอแขน เขาและคุณก็จะเริ่มปรับตัวและเดินไปพร้อมๆกันได้ด้วยดีในครั้งต่อๆไป
ฝึกให้เดิน
เทคนิคที่ 3 - การฝึกสุนัขให้เดิน วิธีคือให้สุนัขอยู่ทางซ้ายของคุณ รวบสายจูงไว้ในมือขวา ส่วนมือซ้ายจะใช้สำหรับกระตุกสายจูงเมื่อต้องการให้เขาแก้ไขเมื่อทำผิดคำสั่ง ใช้คำสั่ง “เดิน” เพียงคำเดียว แล้วเริ่มออกเดิน อาจจะต้องดึงสายฝึกเล็กน้อยเพื่อให้เขาทำตาม พยายามเดินช้า อย่ากระชาก ลาก ถู ถ้าเขาไม่ทำตามหรือเดินล้าหลัง ให้กระตุกสายฝึกเบาๆ เพื่อให้เขาเดิมตามทัน ห้ามให้เขาเดินแซงหน้าคุณเด็ดขาด เพราะจะนิ่งเตลิดออกไป ค่อย ๆ ดึงสายฝึกให้กลับมาหรือเดินช้าลง พยายามเดินคู่กันตลอด ควรฝึกเดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อหัดเดินตรงและเลี้ยว การฝึกในระยะแรกควรใช้เวลาประมาณ 5 นาที ต่อไปก็ขยายเวลาออกไปจนถึง 15 นาที ประมาณ 6-7 สัปดาห์ ที่สำคัญทุกครั้งหลังการฝึกคุณควรมีขนมเป็นรางวัลและกล่าวชมเขาทุกครั้ง
ฝึกให้นั่ง
เทคนิคที่ 4 - การฝึกสุนัขให้นั่งค่อนข้างง่าย โดยให้สุนัขมายืนอยู่ข้างซ้ายมือของคุณ ให้ถือสายจูงสั้นๆ แล้วออกคำสั่งว่า "นั่ง" ขณะออกคำสั่งให้ดึงสายจูงขึ้นพร้อมกับกดช่วงหลังของเขาลง การฝึกนั่งสุนัขตัวใหญ่ๆ บางตัวอาจจะต้องใช้แรงดึงสายจูงและกดท้ายหนักๆ เพื่อให้เขานั่งตามคำสั่ง และให้เขาอยู่ในท่านั่งสักพัก แล้วค่อยผ่อนสายจูง ในตอนแรกๆและต้องทำซ้ำหลายครั้ง เพื่อย้ำให้เขาจำคำสั่งได้ขึ้นใจ และทำตามได้อย่างถูกต้อง ถ้าหากเขาขยับตัวจะลุก ให้คุณทวนคำสั่งอีกครั้ง แล้วให้เขานั่งลง หลังจากนั้นเขาก็จะรู้และนั่งลงไปเอง โดยไม่ต้องกดหลังอีก เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วแล้ว เขาก็จะจะนั่งเองได้ ส่วนคุณเองอย่าลืมให้รางวัล ด้วยขนมหรือคำชื่นชมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และนุ่มนวล
ฝึกให้หมอบ
เทคนิคที่ 5 - การฝึกสุนัขให้หมอบ จะทำต่อเนื่องกันไปจากการฝึกนั่งให้คือ เมื่อสุนัขนั่งเป็นแล้ว ก็สอนให้เขา “หมอบ” อาจจะยากไปหน่อยในช่วงแรกของการฝึก เพราะเขาจะรู้สึกเหมือนว่าเรายกมือ เพื่อจะทำร้ายเขาอยู่ เขาอาจจะวิ่งเตลิดไปก็ได้ คุณจะต้องให้เขาอยู่ในท่านั่ง ส่วนคุณให้นั่งเข่าอยู่ตรงหน้าสุนัข แล้วยกขาหน้าของเขา จับตรงเหนือข้อศอก ยกขึ้นแล้วดึงลงมาที่พื้นข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ออกคำสั่งว่า "หมอบ" แล้วดึงขาหน้าของเขาลงมาติดพื้นและทำให้เขารู้ว่าท่านี้เป็นท่าที่ต้องการให้เขาทำ หลังจากที่เขาเริ่มเรียนรู้ ให้ขยับสายจูงไปอยู่ใต้เท้าซ้ายและออกคำสั่ง "หมอบ" ในขณะเดียวกันดึงสายจูงด้วย จะทำให้เขาหมอบลง พร้อมกับยกมือคุณแล้วโบกลงให้สัญญาณมืออีกครั้ง เพื่อให้เขารู้ จากนั้นหมั่นพูดคุยกันเขา บอกเขาให้รู้ว่าคุณพอใจ เวลาที่เขาทำตามคำสั่ง
ฝึกให้คอย
เทคนิคที่ 6 - การฝึกสุนัขให้คอย หลังจากที่ฝึกสุนัขให้นั่งและหมอบตามคำสั่งได้ดีแล้ว การสั่งให้สุนัขคอยจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงแค่คุณบอกให้เขาอยู่ในท่านั่งหรือหมอบ แล้วคุณค่อยๆเดินถอยออกมาทีละก้าว พร้อมออกคำสั่งว่า “คอย” ประกอบสัญญาณมือ ด้วยการยกมือหันหน้ามือไปหาสุนัข พูดซ้ำๆพร้อมกับเดินถอยหลังออกมาเรื่อยๆ ช้าๆ ถ้าเขาลุกขึ้นให้ออกคำสั่งว่า “ไม่” แล้วเริ่มฝึกให้คอยซ้ำๆแบบนี้อีก 5-6 ครั้ง เขาจะเริ่มรับรู้สิ่งที่คุณสั่งให้ทำ แต่คุณจะต้องเพิ่มเวลาการให้เขาคอยมากขึ้นอย่างน้อย 5 นาที เพื่อฝึกให้เขานิ่งและคอยอย่างใจเย็น เมื่อเขาทำได้สำเร็จ คุณเองก็อย่างลืมให้รางวัลและพูดชื่นชมเขาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนด้วยนะ
ฝึกให้มาหา
เทคนิคที่ 7 - การฝึกสุนัขให้มาหา คุณสามารถเริ่มฝึกกับสุนัขได้ตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กและถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ค่อนข้างฝึกง่าย เพราะสุนัขส่วนใหญ่มักจะรู้คำสั่งนี้จากเจ้าของมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก แต่ถ้าคุณต้องการฝึกให้แม่นยำมากขึ้นให้ใช้เชือกติดกับปลอกคอหรือเป็นเชือกที่พยุงตัวสุนัขไว้ จากนั้นให้คุณใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยนมากกว่าคำสั่งอื่นๆ พร้อมกับดึงเชือกเพื่อทำให้เขาเข้าหาตัวคุณ โดยให้ดึงเชือกเข้าหาตัวคุณควรทำแบบเบาๆ เป็นการค่อยๆ ดึงให้เขาเดินเข้าหาตัวของคุณ นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการนำขนมที่เขาชื่นชอบมาหลอกล่อ โดยที่คุณจะต้องออกคำสั่งเสียงว่า “มานี่” พร้อมกับเรียกชื่อของเขาตามไปด้วย หรืออาจจะใช้เป็นคำสั่งมือด้วยการโบกมือเข้าหาตัวคุณ เป็นลักษณะของการเรียกพร้อมกับใช้คำสั่งเสียงร่วมด้วย ฝึกฝนให้บ่อยครั้ง ไม่นานนักเขาจะวิ่งเข้าหาตัวคุณทันทีเมื่อเห็นสัญญาณมือและได้ยินคำสั่ง
ฝึกให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง
เทคนิคที่ 8 - การฝึกสุนัขให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง โดยเฉพาะลูกสุนัขสุนัขให้ขับถ่ายเป็นที่นั้น คุณต้องดูเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จเป็นหลัก เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปสู่การขับถ่ายถูกที่ทุกครั้งไป มันเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะขับถ่ายถูกที่ได้ 100% โดยในช่วงแรกๆ คุณจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมเวลาที่เขาจะขับถ่าย และเตรียมสถานที่ที่ต้องการให้เขาขับถ่ายเป็นประจำ อาจใช้หนังสือพิมพ์ปู แผ่นปูรอง หรือพาเขาออกมาเดินที่สนามหญ้า ทุกครั้งหลังกินอาหาร และทันทีหลังตื่นนอน และต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเขา ถ้าเขาจะดมที่พื้นและเดินวนไปมา ส่งเสียงคราง หรือแอบไปขับถ่ายในที่ลับตา ต้องรีบอุ้มไปที่ขับถ่ายในที่ของเขาทันที พร้อมพูดเสียงต่ำว่า “ไม่ ไม่ใช่ที่นี่” แล้วนำไปวางลงในที่ที่เราเตรียมไว้แล้วพูดว่า “ฉี่ตรงนี้ อึตรงนี้นะ” เมื่อเขาทำธุระเสร็จให้ลูบหัวแล้วชื่นชมชมเขาหน่อย แล้วเขาจะเริ่มจดจำว่าควรขับถ่ายที่ไหน ถ้าหากใครยังมีปัญหาสุนัขขับถ่ายเรี่ยราดอยู่ ให้ลองพูดเสียงดังว่า "อย่า" "ห้าม" หรือ "หยุด” สักพักเขาก็จะเรียนรู้ตามสัญชาตญาณเอง
ฝึกไม่ไห้กัด ทำลายข้าวของ
เทคนิคที่ 9 - การฝึกสุนัขไม่ไห้กัด ทำลายข้าวของ เพราะการดมกลิ่น และใช้ปากกัดแทะสำรวจสิ่งของรอบตัว เป็นนิสัยสัญชาตญาณของสุนัขอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณยิ่งดุ ตะคอกใส่ จะยิ่งทำให้เขาก้าวร้าว และเริ่มมีนิสัยแบบนี้บ่อยขึ้น คุณควรแก้ไขด้วยการออกคำสั่งว่า “ไม่” แล้วดึงของออกจากปาก สั่งให้ “นั่ง” แล้วให้ของเล่นชิ้นโปรดแทน แต่ถ้าสุนัขบางตัวดื้อ กัดของไม่ยอมปล่อย ไม่ควรใช้วิธีการตีปากจะเป็นการสร้างความก้าวร้าวให้แก่น้องหมา และควรฝึกให้ปล่อยของเอง โดยออกคำสั่งว่า “ปล่อย” ใช้ขนมสุดโปรดมาล่อใจไว้เหนือจมูก พูดคำว่าปล่อยซ้ำ ๆ เมื่อยอมปล่อยค่อยให้ขนมเป็นรางวัล ที่สำคัญคุณควรให้เวลากับสุนัขมากขึ้น ด้วยการเล่นกับเขา หรือพาออกไปเดินเล่นเพื่อให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะพฤติกรรมที่เขาทำลายข้าวของเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งการท่เขาไม่อยากถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว หรือไม่มีใครสนใจและเล่นกับเขา ทำให้เขาต้องแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแบบนั้นออกมา
บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพราะไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็สามารถถูกฝึกถูกสอนได้ เพียงแค่คุณจะต้องมีความอดทน เอาใจใส่ และให้ความรักสุนัข เพื่อให้สื่อสารกันเข้าใจ ที่สำคัญสุนัขจะรับรู้ทุกความรู้สึกของคุณเมื่อเขาไว้ใจให้คุณเป็นเจ้านาย
ข่าวท่องเที่ยว | 22 พ.ย. 2024 | 312 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 19 พ.ย. 2024 | 874 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 18 พ.ย. 2024 | 314 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 15 พ.ย. 2024 | 3,553 อ่าน