bar_chart
0
favorite
0
shopping_cart
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ข้อควรรู้! เตรียมตัวก่อน-หลังบริจาคเลือด

calendar_month 27 เม.ย. 2020 / stylus Admin Chillpainai / visibility 41,671 / ข่าวท่องเที่ยว

ข้อควรรู้! เตรียมตัวก่อน-หลังบริจาคเลือด

ด้วยสถานการณ์การระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ทางสภากาชาดได้รับโลหิตไม่ถึงวันละ 1,000 ยูนิต ซึ่งไม่เพียงพอจ่ายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศอยู่ในภาวะโลหิตสำรองไม่เพียงพอ ชิลไปไหนจึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ไปบริจาคเลือดเพื่อทำกุศลครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการเป็น 'ผู้ให้' ช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้ เพราะหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในการรักษาเป็นอย่างมาก แต่การบริจาคเลือดแต่ละครั้งควรเตรียมตัวให้ดีก่อนจะได้ไม่เกิดภาวะร่างกายอ่อนเพลียตามมา ซึ่งวันนี้เรารวบรวมข้อควรรู้เตรียมตัวก่อน-หลังบริจาคเลือดมาฝากกันในวันนี้

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด


Beige01.jpg

พักผ่อนให้เพียงพอ

ข้อนี้ถือว่าสำคัญมากสำหรับผู้บริจาคเลือดที่ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 48 กิโลกรัมขึ้นไป ในหนึ่งก่อนวันที่จะมาบริจาคเลือดไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดอาการอ่อนเพลียมากหลังบริจาคนั่นเอง


Beige02.jpg

สุขภาพต้องแข็งแรง

ผู้บริจาคเลือดจะต้องสุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งแต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 420 – 450 ซีซี / คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วย คือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวตหาไวรัสเอดส์


Beige03.jpg

หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

ผู้บริจาคเลือดควรรับประทานอาหารก่อนบริจาค 4 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่  ข้าวขาหมู ภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาคเพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น  ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ และไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ, ยาป้องกันเลือดแข็งตัว, ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone), ยารักษาสิว Isotretinoin, ยารักษาต่อมลูกหมาก และยาปลูกผม (Finasteride)


Beige04.jpg

ดื่มน้ำก่อนบริจาค

ก่อนบริจาคเลือด 1-2 วัน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น และก่อนบริจาคเลือด 30 นาที ควรดื่มน้ำประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้ ที่สำคัญควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว


Beige05.jpg

งดแอลกอฮอล์-งดสูบบุหรี่

ผู้บริจาคเลือดควรงดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และควรงดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกเลือดได้ดีขึ้น



การเตรียมตัวหลังบริจาคเลือด


Beige01.jpg

นั่งพักอย่างน้อย 15 นาที

หลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วควรพักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที ให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที


Beige02.jpg

หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟท์

หลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟท์ บันไดเลื่อน อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้ และถ้ามีเลือดซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคเลือดเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล


Beige03.jpg

หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ

หลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วควรหลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้บริจาคเลือดสามารถรับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยเลือดที่บริจาค   


Beige04.jpg

หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่อง

หลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น หรือถ้าผู้ใดที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หลังจากบริจาคเลือดควรหยุดพักเป็นเวลา 1 วัน


Beige05.jpg

รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด จนหมด

ควรรับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด จนหมด ชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคเลือด และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการรับประทานธาตุเหล็กพร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ  จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี  แต่ควรยกเว้นชาเขียว เพราะจะทำให้ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก


ทั้งนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้มีการออกมาตรการป้องกันการถ่ายทอดโรคติดเชื้อ COVID-19 ทางเลือด โดยมีแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ เพื่อให้ผู้บริจาคคัดกรองตนเองก่อนบริจาคเลือด ป้องกันความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อจากผู้บริจาคไปสู่ผู้ป่วยรับเลือด ดังนั้นใครที่มีสุขภาพดี หรือครบกำหนดบริจาคโลหิต 3 เดือนแล้ว ก็สามารถไปบริจาคเลือดเพื่อช่วยผู้ป่วยทั่วประเทศกันได้นะคะ เพราะที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมาและสาขาบริการโลหิตโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศต่างๆ เขามีมาตรการสร้างความมั่นใจ ให้เป็นสถานที่ปลอดภัยจาก COVID-19 หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่าสามารถบริจาคเลือดในช่วงนี้ได้อย่างไร้กังวลนั่นเอง


บทความแนะนำเพิ่มเติม

ยื่นทบทวนสิทธิเราไม่ทิ้งกันง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน : https://www.chillpainai.com/scoop/11809

เปิดข้อปฏิบัติผู้ที่ต้องการบริจาค-รับบริจาคสิ่งของ ช่วงโควิด-19 : https://www.chillpainai.com/scoop/11792

มนุษย์เงินเดือนเช็คด่วน สิ้นเดือนนี้ใครได้เงินคืนจากประกันสังคมมาตรา 33 : https://www.chillpainai.com/scoop/11810

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai