calendar_month 13 เม.ย. 2020 / stylus Admin Chillpainai / visibility 68,639 / ข่าวท่องเที่ยว
ชวนมารู้จักกับ ‘นาฬิกาชีวิต’ (Body Clock / Biological clock) วงจรของระบบการทำงานในร่างกาย ที่สัมพันธ์กับกิจวัตรประจำวันของเรา มาดูกันค่ะว่า นาฬิกาชีวิต คืออะไรกันแน่? สำคัญต่อ สุขภาพ ยังไง? และเราควรทำอะไรในช่วงเวลาไหนของวันจึงจะดีต่อร่างกาย
นาฬิกาชีวิต (Body Clock) หรือ นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) คือ กลไกในการควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ให้ทำงานตรงตามเวลา ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ ความรู้สึกหิว หรือการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งจะทำงานเป็นเวลาตามนี้ค่ะ ....
01.00 - 03.00 น. ช่วงเวลาของตับ >> อวัยวะที่ทำหน้าที่ขับสารพิษและสะสมอาหารสำรองให้กับร่างกาย ผลิตอินซูลิน ตลอดจนผลิตน้ำดีเพื่อเก็บไว้ย่อยไขมัน ซึ่งตับจะทำงานตอนที่เราหลับ ฉะนั้นถ้าถึงช่วงนี้แล้วเรายังไม่นอน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ ทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง อาจทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ฯลฯ
03.00 - 05.00 น. ช่วงเวลาของปอด >> เราควรตื่นนอนในช่วงนี้เป็นประจำค่ะ เพื่อช่วยให้ปอดทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายได้ดี อีกทั้งยังส่งผลทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งอีกด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัส หรือโรคทางเดินหายใจ ควรตื่นแต่เช้าตรู่มาสูดอากาศบริสุทธิ์ ปอดจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจ้า
05.00 - 07.00 น. ช่วงเวลาของสำไส้ใหญ่ >> เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการขับถ่ายในทุกๆ วัน โดยเราสามารถกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้ทำงานได้ดีด้วยวิธีง่ายๆ คือ การดื่มน้ำ 1-2 แก้ว หลังจากตื่นนอน และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ลำไส้ใหญ่ได้ขยับตัว ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น ส่งผลให้ผิวพรรณสดใสขึ้น และยังลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคริดสีดวงทวารด้วยค่ะ
07.00 - 09.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร >> เริ่มเช้าวันใหม่กันด้วยมื้อเช้าที่ดี เพิ่มพลังงานให้ร่างกายกันค่ะ อย่างที่ได้ยินมาเสมอว่า อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุด เพราะกระเพาะทำหน้าที่ย่อยอาหารได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ ร่างกายเราจึงดูดซึมสารอาหารต่างๆ ไปใช้ได้ดี และยังช่วยให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะด้วยนะคะ ส่วนอาหารที่ควรเลือกทานในช่วงเช้า ก็จะเป็นอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลักเลยค่ะ
09.00 - 11.00 น. ช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน >> ช่วงเวลาที่ม้ามและตับอ่อน จะเริ่มทำงานเต็มที่ ในช่วงนี้เพราะส่วนต่างๆ จะตื่นตัวสุดหลังจากเริ่มวันใหม่ ตับอ่อนจะนำสารอาหารที่ได้ ส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนม้ามจะคอยดักจับเชื้อโรค สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ฉะนั้นในช่วงนี้เราควรตื่นนอน ลุกจากเตียงนะคะ เพราะถ้าใครยังขี้เซานอนต่อ อาจจะอาจส่งผลเสียต่อม้ามและตับอ่อน ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรงได้ค่ะ
11.00 - 13.00 น. ช่วงเวลาของหัวใจ >> ในช่วงเวลานี้หัวใจจะทำงานหนักเป็นพิเศษ เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้ความดันเลือดจะสูงขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราควรหลีกเลี่ยงเรื่องเครียดๆ หรือเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้นตกใจ และหาอะไรที่ผ่อนคลายทำบ้าง เพื่อรักษาความสมดุลในการทำงานของหัวใจ
13.00 – 15.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้เล็ก >> มาถึงช่วงเวลาที่ควรงดทานอาหารกันแล้วจ้า เพราะช่วงนี้เป็นเวลาที่ลำไส้เล็กทำหน้าที่ดูดซึมอาหารที่เป็นน้ำ เพื่อนำไปสร้างกรดอะมิโนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ไม่ควรทานอะไรในช่วงนี้ ลำไส้เล็กจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
15.00 - 17.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ >> ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะกับการออกกำลังกายมากๆ ค่ะ เพราะร่างกายจะได้ขับของเสียออกมาผ่านทางเหงื่อ ซึ่งถ้าอยากให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้ดีขึ้นอีก ให้เราดื่มน้ำเยอะๆ และไม่ควรอั้นปัสสาวะ เพื่อช่วยให้การขับของเสียจากร่างกายได้เร็วขึ้น
17.00 - 19.00 น. ช่วงเวลาของไต >> หลังจากที่เราได้ขับถ่ายของเสียและเผาผลาญโปรตีนมาทั้งวัน ทำให้ไตทำงานหนักมาตลอด ช่วงเวลานี้ตัวเราจึงควรพักด้วยค่ะ ไม่ควรทำงานหนัก แต่ก็ต้องทำตัวให้สดชื่น ไม่ง่วงหงาวหาวนอนเช่นกัน เพราะมิฉะนั้น ไตอาจอ่อนแอและเสื่อมได้
19.00-21.00 น. ช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ >> ถึงเวลาผ่อนคลายจิตใจกันบ้างค่ะ ช่วงนี้ควรเลือกทำกิจกรรมเบาๆ เพื่อให้หัวใจทำงานน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิหรือ ดูหนัง ฟังเพลงแบบสบายๆ ร่างกายจะได้เตรียมปรับโหมดสู่การเข้านอนที่มีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันถ้าไม่พักผ่อนในช่วงนี้จะทำให้เลือดข้น กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก ส่งผลให้หัวใจโต โดยเฉพาะคนที่ชอบทำงานตอนดึกๆ หรือเที่ยวกลางคืน
21.00-23.00 น. ช่วงเวลาที่ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่น >> เป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการเข้านอน เพราะช่วงนี้เราควรพักผ่อน ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ร้อน ไม่หนาวไป ฉะนั้นไม่ควรอาบน้ำเย็น หรือออกไปเดินเล่นนอกบ้านในช่วงนี้ ซึ่งถ้าใครหลับยากลองดื่มนมอุ่นๆ สักแก้วก่อนนอน จะช่วยให้หลับง่ายและสบายขึ้นค่ะ สำหรับผลเสียของการไม่พักผ่อนในช่วงนี้ ก็คือจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายมากขึ้น อาจจะให้เกิดอาการเลือดจางตามมาได้
23.00 - 01.00 น. ช่วงเวลาของถุงน้ำดี >> เป็นช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อนเช่นกันค่ะ และควรจิบน้ำก่อนนอนด้วย เพื่อช่วยให้ถุงน้ำดี อวัยวะที่มีหน้าที่ย่อยไขมัน ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป มีน้ำเก็บเอาไว้หล่อเลี้ยงร่างกายในเวลาที่หลับใหล และเป็นการเจือจางไม่ให้น้ำดีข้นจนเกินไป เพราะจะทำให้ไขมันตกตะกอนในตัวเรา อาจมีผลเสียต่างๆ ตามมา เช่น ตื่นกลางดึก อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ลงพุง มีถุงไขมันใต้ตา หรือขาดวิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
เมื่อรู้แล้วว่า นาฬิกาชีวิต ทำงานยังไง เราควรทำกิจกรรมใดในช่วงเวลาไหนถึงจะดี ทีนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาสังเกตพฤติกรรมตัวเองและปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะกับ นาฬิกาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปรับเวลานอน ทานอาหาร และออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของเราค่ะ
ข้อมูล
Tags: นาฬิกาชีวิต นาฬิกาชีวภาพ Body Clock Biological clock สุขภาพ ดูแลสุขภาพ
ข่าวท่องเที่ยว | 22 พ.ย. 2024 | 166 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 19 พ.ย. 2024 | 359 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 18 พ.ย. 2024 | 210 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 15 พ.ย. 2024 | 2,103 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 11 พ.ย. 2024 | 2,256 อ่าน