calendar_month 25 มี.ค. 2020 / stylus Admin Chillpainai / visibility 19,553 / ข่าวท่องเที่ยว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้คงทำให้ทุกคนต้องอยู่ติดบ้าน และจากประกาศล่าสุดของรัฐบาลที่ประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 (เว้นไว้เฉพาะโซนอาหารและยา) หลายคนคงเริ่มกักตุนอาหารสดกันไว้เพียบเพราะไม่อยากเสี่ยงออกจากบ้านบ่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าของกักตุนต่างๆ ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน ทั้งผักสด หรือหมู เห็น เป็ด ไก่ ก็พร้อมจะแห้งเหี่ยวเน่าเสียไวเหลือเกิน เราจึงมีกลเม็ดเคล็ดลับดีๆ มาฝาก เป็นวิธีถนอมอาหารให้อยู่ได้นานขึ้นในช่วงกักตัว! เพื่อจะได้เก็บรักษาความสดใหม่ของวัตถุดิบต่างๆ ให้เก็บได้นาน มาลองทำตามวิธีต่อไปนี้กันเลย
1. หมู/เนื้อสด
สำหรับเนื้อสัตว์ให้แบ่งออกเป็นมื้อๆให้มีขนาดพอดีต่อการประกอบอาหารแต่ละครั้ง แล้วจึงห่อด้วยพลาสติกให้มิดชิดก่อนนำไปแช่แข็ง เพราะถ้าเนื้อสัตว์โดนความเย็นจัดโดยตรงจะทำให้แห้งและอันตรายต่อการบริโภคได้ ดังนั้นก่อนใช้ปรุงอาหารค่อยเปลี่ยนมาแช่ช่องธรรมดาเพื่อทำละลาย วิธีนี้จะช่วยรักษาความสดใหม่ของเนื้อสัตว์และอาหารทะเลได้อีกหลายวัน
2. กุ้ง หมึก และปลาสด
ในส่วนของกุ้งถ้าซื้อมาแล้วให้ตัดหนวดทิ้งเลย จากนั้นจะปอกเปลือกหรือไม่ก็แล้วแต่ความสะดวก แต่ควรแยกออกเป็นห่อๆ แช่แข็งตามความพอดีต่อการประกอบอาหารแต่ละครั้ง ส่วนหมึกและปลาสดนั้นควรล้างให้สะอาดและหั่นเก็บไว้โดยแบ่งให้พอดีต่อการประกอบอาหารแต่ละครั้งเช่นเดียวกับกุ้งก่อนจะนำไปแช่แข็ง แต่เพื่อความสะดวกเวลาหยิบใช้ควรแยกเก็บประเภท ไม่ใส่รวมกัน
3. ไข่สด
เมื่อซื้อไข่สดมาแล้วไม่ควรทำความสะอาด เพราะอาจทำให้ที่หุ้มเปลือกไข่นั้นหลุดออกแล้วอากาศอาจจะเข้าตามรูพรุนเล็กๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ไข่เน่าเสียไว ดังนั้นจึงควรเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น โดยตั้งด้านป้านขึ้น
4. ผักสด
ผักสดจะมีความเหี่ยวและเน่าเสียได้เร็ว ดังนั้นเมื่อซื้อมาแล้วควรตัดส่วนที่เน่าเสียออกก่อนแล้วจึงล้างทำความสะอาด แช่น้ำทิ้งไว้สักพัก แล้วจึงใช้กระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ซับความชื้น แยกเป็นชนิดเก็บใส่ถุงซิปล็อกที่ปิดสนิท นำไปแช่ในช่องผักของตู้เย็น แต่สำหรับผักบางชนิด อย่าง พริก ผักชี ผักกาดหอม ไม่ควรล้างน้ำก่อนนำเข้าตู้เย็นเพราะจะเน่าเสียไวขึ้น
5. เห็ดสด
เมื่อซื้อเห็ดสดมาแล้วควรนำไปลวกพอสุกแล้วนำมาล้างกับน้ำจนหายร้อน จากนั้นก็เก็บเข้าตู้เย็น แช่ในช่องผักของตู้เย็นจะสามารถคงความสดได้นานขึ้น
6. หอมและกระเทียม
หอมและกระเทียมเมื่อซื้อกลับมาแล้วควรลอกเปลือกบางส่วนออก จากนั้นก็เก็บใส่ถุงตาข่ายหรือตะกร้าที่มีการระบายอากาศได้ดี ที่สำคัญควรแขวนไว้ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่โดนแดด เพื่อป้องกันความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อรา
7. เครื่องแกง
ประกอบอาหารแต่ละครั้งอาจจะมีเครื่องแกงที่ตำแล้วใช้ไม่หมด ดังนั้นควรแบ่งสัดส่วนตามปริมาณที่ใช้ (นื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม จำเป็นต้องใช้เครื่องแกง 300 กรัม) แล้วจึงเอาเข้าตู้เย็นแช่แข็งไว้
8. ข้าวสาร
สำหรับข้าวสารควรหาถังที่มีฝาปิดมิดชิดมาใส่เก็บไว้ แนะนำให้นำใบมะกรูดมาใส่ไว้ด้วยเพราะกลิ่นหอมฉุนจากใบมะกรูดจะช่วยขับไล่มอดและแมลงต่างๆ แต่ต้องคอยเปลี่ยนใบใหม่อยู่เสมอเพราะถ้าใบมะกรูดแห้งจะหมดกลิ่นได้นั่นเอง
9. ผลิตภัณฑ์จากนม
ผลิตภัณฑ์จากนม อาทิ ชีส ครีม เนย ยีสต์ ถ้าใช้เสร็จแล้วควรห่อเก็บด้วยพลาสติกหรือปิดฝาขวดให้แน่น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาอยู่ที่ประมาณ 4 - 8 องศาเซลเซียส
10. กล้วย
ปิดท้ายกันด้วยกล้วย ผลไม้ยอดนิยมที่มักสุกเร็วจนกินไม่ทัน โดยวิธีถนอมกล้วยให้เปลือกไม่ดำนั้นสามารถนำไปจุ่มน้ำอุ่นสักพักเพื่อชะลอการสุก หรืออาจจะใช้ฟิล์มห่ออาหารมาพันหุ้มบริเวณขั้ว เท่านี้ก็จะทำให้กล้วยสุกงอมช้าลงได้นานขึ้นแล้ว
บทความแนะนำเพิ่มเติม
ของติดบ้านที่ต้องมี : 10 สิ่งของกิน-ของใช้ที่ต้องมีติดบ้านในสภาวะฉุกเฉิน
ประกันไวรัส : ประกันโควิด-19 ทำแบบไหนดี? คุ้มครองอะไรบ้าง?
Tags: โควิด19 COVID19 วิธีถนอมอาหาร
ข่าวท่องเที่ยว | 13 พ.ย. 2024 | 111 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 07 พ.ย. 2024 | 555 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 06 พ.ย. 2024 | 366 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 04 พ.ย. 2024 | 252 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 03 พ.ย. 2024 | 323 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 02 พ.ย. 2024 | 391 อ่าน