0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

ย้อนรอย 10 สถานที่ในกรุงเทพฯ ที่เหลือแค่เพียงชื่อ

calendar_month 04 ธ.ค. 2019 / stylus Admin Chillpainai / visibility 29,751 / สถานที่ยอดนิยม

f74d1b3f375ee2981adac767d2727a4b97434920.jpg

เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าสถานที่บนทำเลดีๆ ในกรุงเทพนั้น ในอดีตเคยเป็นอะไรมาก่อน ชิลไปไหนจะพาย้อนรอยไปดูสถานที่ในกรุงเทพ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม หรือเป็นสถานที่เที่ยวยอดฮิตในอดีต แต่เมื่อกาลเวลาได้เปลี่ยนไป สถานที่เหล่านี้ก็ได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะเหลือแค่เพียงชื่อแต่สถานที่เหล่านี้ยังหลงเหลืออยู่ในความทรงจำ

Beige01.jpg

วังวินด์เซอร์ - สนามศุภชลาศัย

‘วังวินด์เซอร์’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ วังประทุมวัน, วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2424 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ เป็นวังที่สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ซึ่งวังแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร และที่ได้ชื่อว่าวังวินด์เซอร์ ก็เพราะถูกถอดแบบมาจากก็พระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นวังที่สวยงามมากที่สุดในเวลานั้น วัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทิวงคต วังจึงตกเป็นสมบัติของแผ่นดินในเวลาต่อมา

จนเวลาล่วงเลยมาในปี พ.ศ. 2478 หลังจากราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งขึ้น และได้มีความเห็นว่าที่ดินบริเวณวังวินด์เซอร์เหมาะแก่การสร้างสนามกีฬา โดยให้คนนับร้อยมาทำการรื้อถอนวังที่ประทับรวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างโดยรอบจนหมดสิ้น  ปัจจุบันที่ดินบริเวณวังวินด์เซอร์ คือ ‘สนามศุภชลาศัย’ ตั้งชื่อตาม ‘หลวงศุภชลาศัย’ อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกนั่นเอง

17d12db19eb18bb6afe5012ea96273e365e35257.jpg

5b3a9c0247d4b0c8d54a74653a7634d5e8e87123.jpg

Beige02.jpg

วังเพ็ชรบูรณ์ - ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิร์ด

'วังเพ็ชรบูรณ์' หรือที่หลายๆ คนรู้กันดีว่าคือ 'ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์' ในปัจจุบัน เดิมทีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2400 พื้นที่นี้เป็นนาหลวงเรียกว่า “ทุ่งบางกะปิ” มีบัวหลวงมากมาย เมื่อสร้างพระราชวังทรงพระราชทานนามว่า “พระราชวังปทุมวัน” ทรงมีรับสั่งให้ขุดสระใหม่ 2 สระติดต่อกัน เพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณที่เป็นพระราชวังปทุมวันแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ให้สร้างตำหนักเพื่อเป็นวังที่ประทับ จนเมื่อเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ดินตรงนี้จึงตกเป็นของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีบริษัทเอกชนมาเช่าทำศูนย์การค้า 'เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์' โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ จนปลายปี พ.ศ. 2545 ทางบริษัทได้ประสบปัญหาทางการเงิน กลุ่มเซ็นทรัลจึงเข้ามาประมูลและดำเนินการสร้างโครงการต่อจนเป็น 'ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์' ในปัจจุบัน

f351d8ee507a522440c55003d1068549aadb890f.jpg

f3aa5d66c9ba236a3a3fcb42b54fd8f7b477a868.jpg



Beige03.jpg

โรงหนังศาลาเฉลิมไทย - ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

'โรงหนังศาลาเฉลิมไทย' โรงภาพยนตร์ชั้นนำของไทยในอดีต ทันสมัยที่สุดในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2492 ตั้งอยู่บริเวณริมถนนราชดำเนินกลาง ตัดกับถนนมหาไชย ตรงข้ามป้อมมหากาฬ เป็นโรงหนังที่สามารถบรรจุผู้ชมได้ราว 1,500 ที่นั่ง เรียกได้ว่าเป็นที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมากจนต้องมีการจองตั๋วล่วงหน้ากันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังพื้นที่สำหรับจำหน่ายป๊อปคอร์น (Pop Corn) เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งโรงหนังศาลาเฉลิมไทย ได้นำภาพยนตร์ชื่อดังทั้งของไทยและหนังฮอลลีวู้ดเข้ามาฉายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น มนต์รักทะเลใต้ (South Pacific), คลีโอพัตรา (Cleopatra), วันเผด็จศึก (The Longest Day), รักริษยา, รักข้ามคลอง และเรื่อง เพราะฉันรักเธอ เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้ฉายที่นี่

เมื่อกาลเวลาผ่านไปความนิยมในการรับชมภาพยนตร์ที่โรงก็ได้ถูกแทนที่ด้วย VDO ประกอบกับโรงหนังศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดราชนัดดารามวรวิหาร และ โลหะปราสาท ทำให้เกิดการบดบังทัศนียภาพ ความสง่างาม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้รื้อถอนศาลาเฉลิมไทยและสร้างเป็น 'ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์' พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขึ้น ซึ่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ทางโรงภาพยนตร์ได้จัดแสดงละครเวที 'พันท้ายนรสิงห์' เป็นการอำลาอาลัยการก่อนปิดตัวอย่างถาวร

bdcfcce966b94e6602433819016b56d237f19d42.jpg

bf73bd05368719c87cbe1f1d1110f99dde8d95c9.jpg

Beige04.jpgโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล - ศูนย์การค้าสยามพารากอน

หากจะย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่แล้วพื้นที่บริเวณถนนพระราม 1 ของกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางเมืองอย่าง 'สยามพารากอน' แต่เป็นพื้นที่ของ 'โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล' ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามมีกลิ่นอายของความเป็นไทย ด้วยโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ที่ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนของอาคารกลางมีล็อบบี้ทรงไทย ออกแบบโดย นายโจเซฟ ซาเลอร์โน นักออกแบบที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน

โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล อยู่คู่กับย่านสยามสแควร์มานานถึง 36 ปี จนในปี พ.ศ. 2545 จึงมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่เดิมของโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมกับมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้รื้อถอนโรงแรมและสิ่งปลูกสร้างลง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว ก็คือ 'ศูนย์การค้าสยามพารากอน' นั่นเอง

beef3a0205783d7264368e6663e0b671e63411e4.jpg

dd526f6208790278a009b3ee8d8c0c38cee09a8e.jpg

Beige05.jpgวังบูรพาภิรมย์ - ย่านวังบูรพา

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า 'โก๋หลังวัง' แห่งย่านบูรพา กันมาบ้างแล้ว ซึ่งวังที่ว่านั้นก็คือ 'วังบูรพาภิรมย์' นั่นเอง หากจะย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2418 วังบูรพาภิรมย์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับได้รับสมญานามว่า “เป็นวังเอกและมหึมาแห่งกรุงสยาม” ถูกออกแบบโดยนายโจอาคีโน กรัสซี (Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี-ออสเตรีย เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแนวโคโลเนียล

ภายหลังในปี พ.ศ. 2471 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ทายาทจึงปล่อยให้เช่าเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเมื่อปี พ.ศ. 2595 ทางทายาทก็ได้ขายให้กับบริษัทเอกชน เพื่อดำเนินการสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์ 3 แห่งคือ โรงภาพยนตร์คิงส์,  โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ เมื่อรวม 'ตลาดมิ่งเมือง' ซึ่งในปัจจุบันคือศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า นับได้ว่าเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เป็นที่รวมตัวของหนุ่มสาวทันสมัยเรียกว่าเป็น 'โก๋หลังวัง' อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นจะยกเลิกกิจการไปแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วังบูรพาde9b2f2afe7ef3d8212e0865f877d3773dd083f1.jpg

0481425f495b1c67e76e802bb98f96fd5fc9fe56.jpg

Beige06.jpg

ห้างแบดแมน - ลานจอดรถกองสลาก

ในช่วงปี พ.ศ. 2422 สยามประเทศได้มีห้างหรูเกิดขึ้นชื่อว่า 'ห้างแบดแมน' ซึ่งก่อสร้างโดยนายแบดแมน ที่แต่เดิมนั้นเคยเป็นหุ้นส่วนของแรมเซย์เพื่อนร่วมชาติจากห้างแรมเซย์นั่นเอง ด้วยที่ตั้งของ 'ห้างแบดแมน' อยู่ใกล้กระทรวงกลาโหม มีร้านตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแบบนายทหาร จึงทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหมู่ขุนนางและแวดวงของคนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 5 จนขยับขยายเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

ซึ่งห้างแบดแมนก็ได้ดำเนินกิจการไปจนตลอดรัชกาลที่ 5 แล้วนายแบดแมนก็ได้เกษียณอายุแล้วกลับไปเปิดร้านชื่อเดียวกันที่บ้านเกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนภายหลังได้มีการเลิกกิจการจึงได้นำตึกมาใช้เป็นกรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์ และต่อมาก็ได้ถูกรื้อถอนออก ปรับเปลี่ยนมาเป็น 'ลานจอดรถกองสลาก' ในปัจจุบัน

53aa5e552d78b9bf9dbb4f96a8241b386aaac33b.jpg

Beige07.jpgห้างไทยไดมารู - บิ๊กซี ราชดำริ

'ห้างไทยไดมารู' ห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในยุคสมัยหนึ่ง เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เป็นห้างแรกที่มีเครื่องปรับอากาศและบันไดเลื่อน มีแนวความคิดแบบห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

จนเมื่อเข้าปี พ.ศ. 2537 'ห้างไทยไดมารู' ที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าราชดำริ อาเขต ซึ่งก็คือ 'บิ๊กซี ราชดำริ' ในปัจจุบัน ได้หมดสัญญาลงก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ ปัจจุบันคือ พาราไดซ์ พาร์ค แต่เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจเล่นงานเมื่อปี พ.ศ. 2540 จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นเพื่อเปิดห้างสรรพสินค้าใหม่ ในปัจจุบันจึงไม่มีชื่อ 'ไทยไดมารู' อยู่ในประเทศไทย

46a94af727b8bcab5e914c97ed809cbd166c8435.jpg

Beige08.jpg

วังสรรพสาตรศุภกิจ - แพร่งสรรพสาตร

'แพร่งสรรพศาสตร์' เป็นแพร่งหนึ่งที่อยู่ใน 'ย่านสามแพร่ง' ที่เรียกได้ว่าเป็นย่านเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งอยู่ที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนโดยรอบกินเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่เลยทีเดียว ซึ่งในอดีตนั้นย่านดังกล่าวเคยเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์

'แพร่งสรรพศาสตร์' ในอดีตก็คือ 'วังสรรพสาตรศุภกิจ' เป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุลทองแถม เป็นผู้บังคับบัญชากรมช่างในพระบรมมหาราชวังในสมัยนั้น จึงได้ทำการก่อสร้างวังสรรพสาตรศุภกิจอย่างวิจิตรบรรจง มีซุ้มประตูที่สวยงาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444

แต่แล้วเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมา 66 ปี ในปี พ.ศ. 2510 วังนี้ถูกไฟไหม้เสียหายจนหมด เหลือก็แต่เพียงซุ้มประตูวังเท่านั้น จึงได้มีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นมาแทน เรียกย่านนี้ว่า 'แพร่งสรรพสาตร' ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ แต่ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น 'แพร่งสรรพศาสตร์' ในปัจจุบันซุ้มประตูวังเก่ายังคงความสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ชม นอกจาก 'แพร่งสรรพศาสตร์' แล้วยังมี 'แพร่งนารา' หรือในอดีตคือ 'วังวรวรรณ' และ 'แพร่งภูธร' หรือในอดีตคือ 'วังสะพานช้างโรงสี'962a795d435d1ccef1a00bbfeab7d6d1866f9e37.jpg

60339d6341e20d5a6e433f92e03e200ca778ffd8.jpg

Beige09.jpg

พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร' หลายๆ คนคงจะรู้จักกันดีว่าเป็นสถานที่จัดนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย แล้วรู้กันไหมว่า ในอดีตนั้นเคยเป็น 'พระราชวังบวรสถานมงคล' หรือ 'วังหน้า' เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สร้างขึ้น โดยเริ่มสร้างพร้อมๆ กับพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. 2325

ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ถูกปล่อยให้รกร้างเนื่องจากกรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์ต่อๆ มาก็ไม่ได้มาประทับแต่อย่างใด เพราะก็ต่างก็เกรงกลัวในคำสาปแช่งของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ได้ออกพระโอษฐ์ตรัสสาปแช่งขณะประชวรและเสด็จทอดพระเนตรรอบๆ วังว่า "–ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข–" ตามที่เล่าขานต่อกันมา

จนเวลาผ่านมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักพระทัยถึงปัญหายุ่งยากที่จะตามมาในอนาคตจึงโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังสถานมงคล และสถาปนาตำแหน่งรัชทายาทใหม่คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทน

เมื่อปี พ.ศ. 2477 สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังสถานมงคลทั้งหมดจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” และประกาศตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

3923c6420b850a08aee6ce11700413390c4d74c5.jpg

31e5ca37bf3755c733357e5b513559ea889371ac.jpg

Beige10.jpg

วังนางเลิ้ง - คณะบริหารธุรกิจและคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

'วังนางเลิ้ง' เดิมทีเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 28 ในเจ้าจอมมารดาโหมด หลังจากกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จกลับจากการศึกษาวิชาทหารเรือจากสหราชอาณาจักรนาน 7 ปี ก็ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงทหารเรือ

ทรงใช้เป็นที่ประทับถึงปี พ.ศ. 2466 พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชนมายุเพียง 43 พรรษา จากนั้นทายาทก็ได้ขาย 'วังนางเลิ้ง' ให้กับกรมยุวชนทหารบก และต่อมาในปี พ.ศ. 2491 วังนี้ใช้เป็นวังนี้ใช้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพณิชยการพระนคร ก่อนที่เวลาผ่านมาล่วงเลยถูกรื้อถอนเหลือเพียงเรือนหมอพร และประตูวัง ที่อยู่ด้านหลังศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งสร้างไว้เป็นที่ระลึกทางด้านหลังโรงเรียนเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มากราบไหว้แทน ส่วนตำหนักใหญ่ได้ถูกรื้อถอนแล้วสร้างใหม่เป็น 'คณะบริหารธุรกิจและคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร' ในปัจจุบัน7125193c570e8880fb5f1d2a107a7fe83160331b.jpg

2d1abb6752ca26272985a0a09dc2dd42eb152b2e.jpg


เป็นยังไงกันบ้างคะ กับการย้อนรอยไปรู้จักกับ 10 สถานที่ในอดีตที่ตอนนี้ได้ถูกทดแทนด้วยด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่ทันสมัยขึ้นแต่ก็สวยงามไม่แพ้กัน ถือว่าการย้อนรอยนี้ก็เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของสถานที่ไปในตัวซึ่งในปัจจุบันก็เหลือเพียงแค่ชื่อไว้ให้คนรุ่นหลังระลึกถึงเท่านั้น 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai