calendar_month 08 พ.ย. 2019 / stylus Admin Chillpainai / visibility 29,885 / ข่าวท่องเที่ยว
ช่วงนี้เค้าแชร์เรื่องนี้กันเยอะมากเลยนะคะ เรื่อง Travel Card จริงๆ เรื่องการใช้จ่ายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เวลาที่เราต้องเดินทาง ปัจจุบันเราก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีการแลกเงินตามร้านแลกเงิน หรือตามธนาคาร การใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือวิธีใหม่ๆ อย่าง Travel Card ที่หลายธนาคารทยอยปล่อยกันออกมา บัตรนี้มีคุณสมบัติและวิธีการอย่างไร เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ชิลไปไหนจะขอยก 4 บัตร Travel Card มาให้ทุกคนลองเก็บไว้พิจารณากันค่ะ โดยบัตร Travel Card จะแยกออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ก็คือประเภทเติมเงิน และประเภทเดบิตทั่วไป ทั้ง 2 ประเภทนี้ก็มีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน
บัตร Travel Card ประเภทเติมเงิน เช่น SCB Planet / Kurungthai Travel Card
บัตร Travel Card ประเภทเดบิต เช่น TMB All free / Kbank Journey
เรามาดูวิธีใช้งานของเจ้าบัตร Travel Card แต่ละประเภทกันค่ะ
บัตร Travel Card ประเภทเติมเงิน คือ หลังจากที่เราเปิดใช้บัตรแล้ว บัตรจะคล้ายกับกระเป๋าสตางค์ของเรา คือเราจะต้องมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในบัญชีก่อน แล้วค่อยกดเติมเงินเข้าไปในบัตร หลังจากนั้นถึงจะสามารถแลกเงิน จากเงินไทยเป็นเงินสกุลต่างๆ ได้ตามต้องการ ซึ่งทั้งการเติมเงินและแลกเงิน สามารถทำได้ผ่านแอปของธนาคารนั้นๆ
ข้อดีของบัตรประเภทเติมเงินเราสามารถล็อคเรทเงินที่เราจะแลกได้ เช่น วันไหนที่เรทเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เราพอใจ เราก็สามารถกดแลกได้เลย และเมื่อไปใช้จ่ายที่ต่างประเทศ ค่าเงินก็มีเรทเท่ากับวันที่เรากดแลกไว้ แต่ก็ไม่แนะนำให้แลกเผื่อไว้จำนวนมากๆ เพราะเรทในการแลกคืนจะเป็นอีกเรทหนึ่งนั่นเองค่ะ ที่สำคัญแต่ละบัตร แต่ละธนาคารก็สามารถแลกสกุลเงินได้ต่างกัน ไม่ได้ครอบคลุมทั่วโลกเหมือนกับบัตร Travel Card ประเภทเดบิตค่ะ
บัตร Travel Card ประเภทเดบิต ก็มีหลักการใช้เหมือนบัตรเดบิตทั่วไปเลย ก็คือเราต้องมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในบัญชีนั้น เมื่อเดินทางไปยังต่างประเทศ แล้วต้องการใช้จ่าย ก็สามารถรูดได้เลย ไม่ต้องแลกเงินเก็บไว้ในบัตรก่อน เพียงแต่เรทเงินก็จะแปรผันไปตามวันที่รูดใช้ ไม่สามารถล็อคเรทเงินเหมือนบัตรประเภทเติมเงิน
ข้อดีคือบัตรประเภทเดบิตจะสามารถรูดที่ไหนก็ได้ทั่วโลก บัตรแบบนี้จะเหมาะกับคนที่ไม่คิดมากเรื่องเรทเงิน
มาดูเรื่องการใช้งานในไทยและต่างประเทศกันบ้างนะคะ
Travel Card คือบัตรที่เน้นรูดในต่างประเทศ แต่ถ้าใครจำเป็นต้องกดเงินในต่างประเทศด้วย ทั้งสี่บัตรนี้สามารถกดเงินในต่างประเทศได้ แต่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าบริการตู้ต่างประเทศด้วย
ส่วนการใช้งานในไทย สำหรับบัตรประเภทเติมเงิน อย่าง SCB Planet และ Krungthai Travel Card เมื่อเดินทางกลับมาในประเทศไทย เราจะต้องกดแลกเงินในแอปของธนาคารให้เป็นเงินไทยก่อน แล้วค่อยใช้บัตรเอทีเอ็มปกติกดเงินเอานะคะ คือตัวบัตรที่เป็น Travel Card จะไม่สามารถกดเงินไทยในประเทศไทยได้ ส่วนบัตรประเภทเดบิตอย่าง TMB All free และ Kbank Journey ใช้กดเงินในประเทศได้ตามปกติค่ะ
สำหรับจำนวนสกุลเงินที่ SCB Planet และ Kurungthai Travel Card แลกได้ค่อนข้างครอบคลุม ต่างกันที่ Kurungthai Travel Card สามารถแลกสกุลเงิน Norway, Sweden, Denmark และ Russia ได้ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แลกโดยตรงจากประเทศไทยได้ค่อนข้างยาก แต่ไม่สามารถแลกสกุลเงิน หยวน วอน หรือว่าไต้หวันได้ ถ้าอยากจะแลกสกุลเงินหยวน จะต้องเปิดบัตรยูเนี่ยนเพิ่มอีกใบด้วยค่ะ
ล่าสุด KBank เค้าออกบัตรใหม่ชื่อว่า YouTrip สามารถแลกเงินล่วงหน้าได้ 10 สกุลเงิน และในกรณีที่เงินที่แลกไปหมดหรือไม่พอ เค้าก็มีระบบ SmartExchange™ ที่สามารถรูดจ่ายได้โดยจะแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาท เป็นสกุลที่กำลังใช้จ่ายด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้นๆ ตอนนี้ฟรีค่าสมัคร ค่าธรรมเนียมรายปี กดเงินที่ตู้ต่างประเทศฟรีค่าธรรมเนียม 100 บาท จนถึงมกราคมปีหน้า
และนี่คือภาพรวมของตัวอย่างบัตร travel card จาก 4 ธนาคารที่ชิลไปไหนยกมาเล่าให้ฟังวันนี้นะคะ ยังไงก็ลองเปรียบเทียบข้อมูล หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธนาคารก่อนสมัครเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเพื่อนๆ จะได้เดินทางต่างประเทศกันแบบสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องเงินค่ะ
Tags: Travel Card บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน SCBPlanet KurungthaiTraveCard TMBAllfree KbankJourney แลกเงิน แลกเงินต่างประเทศ เที่ยวต่างประเทศ
ข่าวท่องเที่ยว | 17 ม.ค. 2025 | 288 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 13 ม.ค. 2025 | 522 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 09 ม.ค. 2025 | 2,126 อ่าน