calendar_month 25 ต.ค. 2019 / stylus Admin Chillpainai / visibility 4,345 / ข่าวท่องเที่ยว
ปิดดีลแล้ว! หลังยืดเยื้อนาน 1 ปี รฟท. จับมือ กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และพันธมิตร ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาล เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดเผยถึงเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางการวิ่งจะประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร ซึ่งมีสถานนีดังต่อไปนี้
สถานีท่าอากาศยานดอนเมือง
สถานีกลางบางซื่อ
สถานีมักกะสัน
สถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สถานีฉะเชิงเทรา
สถานีชลบุรี
สถานีศรีราชา
สถานีพัทยา
สถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา
การลงนามสัญญาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) โดยกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติอยู่ที่ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ในขณะที่กลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐคาดการณ์ไว้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)เป็นการลงทุนของ “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจเอกชน ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ร่วมกับ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ. ช.การช่าง ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างทันที
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะค่อยๆ ทยอยเปิดให้บริการในบางเส้นทาง เร็วที่สุดในปี 2566 ซึ่งทางภาครัฐและเอกชนคาดว่าโครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ซึ่งตอบรับกับแนวทางของภาครัฐที่ต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0
Tags: รถไฟไทย รถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา
ข่าวท่องเที่ยว | 13 พ.ย. 2024 | 272 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 07 พ.ย. 2024 | 613 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 06 พ.ย. 2024 | 390 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 04 พ.ย. 2024 | 277 อ่าน
ข่าวท่องเที่ยว | 03 พ.ย. 2024 | 347 อ่าน