calendar_month 26 ก.ย. 2019 / stylus Admin Chillpainai / visibility 14,259 / รีวิวที่เที่ยว
ครั้งแรกในรอบ ๕๐ ปี ที่คนไทยจะได้รับชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เชื่อว่าหลายคนคงต้องตั้งหน้าตั้งตารอ พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้ แต่ก่อนที่จะได้รับชมริ้วขบวนเรือของจริง ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมสัมผัสนิทรรศการที่จะทำให้คนไทยได้เข้าใจความหมายของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมากขึ้น ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงจะได้รับชมริ้วขบวนเรือพระราชพิธีจำลองกว่า ๕๒ ลำ ที่จัดรูปแบบตามริ้วขบวนจริงบนแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่คนไทยจะร่วมภาคภูมิใจในความงดงามของเรือพระที่นั่ง มรดกทางวัฒนธรรมจากช่างศิลป์ฝีมือคนไทย ผ่านนิทรรศการ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ “ศิลปะบนผืนน้ำ”
ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้มีการเสด็จเลียบพระนครโดยมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ กองทัพเรือร่วมกับไอคอนสยามจัดนิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ “ศิลปะบนผืนน้ำ” ถ่ายทอดความวิจิตรของช่างศิลป์ไทย ร่วมสร้างความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ ที่นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่อย่างใกล้ชิด ก่อนถึงวันพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ ตุลาคมศกนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
โดยมีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี โดยมี พลเรือโท จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการธหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี และ คุณชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัทไอคอนสยาม จำกัด พร้อมรับชมการสาธิตการเห่เรือพยุหยาตราทางชลมารค
นิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๖๒ เป็นนิทรรศการมัลติมีเดีย ๓ ภาษา (ไทย อังกฤษ และจีน) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ศิลปะบนผืนน้ำ” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเรือรบที่ใช้โรมรันศัตรู สู่ขบวนเรือพระราชพิธีที่ได้รับการประดับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงให้เป็นพระราชพาหนะคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ มีการแบ่งโซนจัดแสดงออกเป็น ๒ โซน ณ บริเวณชั้น ๑ และชั้น M ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเดินชมได้ตามอัธยาศัย โดยจะรับชมในโซนไหนก่อนก็ได้
โซนจัดแสดงบริเวณชั้น ๑ ได้แบ่งเนื้อหาจัดแสดงออกเป็น ๓ ส่วน โดยเนื้อหาจัดแสดงส่วนที่ ๑ “จากเรือรบสู่เรือพระราชพิธี” จัดแสดงเรื่องราวของสายน้ำที่ถูกเล่าขานจากวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อโบราณ ยามว่างเว้นจากการสู้รบของเหล่าทหารศึก จากเรือรบสู่ขบวนเรือพระราชพิธี ที่ได้รับการประดับประดาและตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงให้เป็นพระราชพาหนะคู่พระบารมีอันไพศาลของพระมหากษัตริย์
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณนอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางสกลมารค” แล้วการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำคือ “พยุหยาตราทางชลมารค ” ก็เป็นการคมนาคมที่สำคัญเช่นกัน พยุหยาตราทางชลมารค หมายถึงริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าแผ่นดินมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ โดยทางน้ำ ทั้งที่เป็นการเสด็จฯ โดยส่วนพระองค์หรือเป็นการพระราชพิธี โดยการจัดรูปแบบขบวนเรือตามแบบแผนโบราณราชประเพณี การถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ เป็นต้น
ในอดีตกาลเรือหลวงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับราชการเท่านั้น เช่น การเดินทางสัญจรทางน้ำตลอดจนการใช้เป็นเรือรบขับไล่ข้าศึกในยามที่เกิดสงคราม การจัดเรือในรูปแบบกระบวนทัพจึงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณกาล เรือหลวงมักเป็นเรือขนาดใหญ่และมีความยาวกว่าเรือปกติทั่วไป ในเวลาที่บ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดฯ ให้ใช้กระบวนทัพเรือเสมอ โดยการเสด็จบำเพ็ญกุศล เช่น ทอดผ้าพระกฐิน หรือเสด็จนมัสการพระพุทธบาท โดยถือเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพลไปด้วย กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามมีการประโคมดนตรี เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างความฮึกเหิมให้แก่ฝีพาย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชหฤทัยในการสืบสานวัฒนธรรมไทยให้สืบเนื่องยาวนาน พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานานถึง ๕๐ ปี และถือเป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฎในประเทศไทยเพียงเท่านั้น โดยถ่ายทอดผ่านนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่าพร้อมเนื้อหาประวัติเรือพระราชพิธี รวมถึงจัดแสดงเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวไทยอีกด้วย
ด้วยความวิจิตรงดงามและเอกลักษณ์ของชาติไทยที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างชาติ ด้วยอัจฉริยะการต่อเรือของช่างไทยโบราณ จนองค์การเรือโลก แห่งสหราชอาณาจักร ( THE WORLD SHIP TRUST MARITME HERITAGE) ได้มอบ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเล ขององค์กรเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลโลก ในวันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙
ส่วนจัดแสดงที่ ๒ “ศิลปะบนผืนน้ำ” บอกเล่าความงดงามของขบวนเรือ ลวดลายที่ถูกประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตาบนลำเรือ สะท้อนศิลปะ ตำนาน และความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ผ่านช่างศิลป์ไทยหลายแขนงโดยในส่วนนี้จัดแสดงปูนปั้นจำลองลวดลายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบบรณ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถสัมผัสลวดลายเรือพระที่นั่งจำนวน ๔ ชิ้น ได้อย่างใกล้ชิด พร้อมคำอธิบายอักษรเบล เพื่อเอื้อเฝือให้แก่ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้และสัมผัสความงดงามอย่างใกล้ชิด
ในส่วนที่ ๒ นี้เรายังสามารถรับชมวีดีทัศน์เบื้องหลังการฝึกซ้อมของกำลังพลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเรือพระราชพิธีและการแสดงชุดกำลังพลโดยผ่านการสร้างสรรค์และออกแบบอย่างประณีตผ่านช่างฝีมือ ตลอดจนพายเงิน พายทอง และแพนหางนกยูง ที่จัดเตรียมขึ้นสำหรับพระราชพิธีในครั้งนี้
โดยโฮไลท์ของเนื้อหาจัดแสดงส่วนที่ ๒ อยู่ที่เทคนิคการใช้พาโนรามาโฮโลแกรม (Panorama Hologram) เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ชื่นชมความสวยงามของลวดลาย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ ได้แก่เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เสมือนกับว่าเรือพระที่นั่งกำลังลอยล่องอยู่บนผืนแม่น้ำเจ้าพระยาจริงๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก
ส่วนจัดแสดงสุดท้าย ส่วนที่ ๓ “สืบสานสายน้ำแห่งพระบารมี” จัดแสดงวีดีทัศน์เหตุการณ์เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางลมารค เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ และการสืบสานโบราณราชประเพณีในการเจริญรอยตามพระราชบิดาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๔-๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
ซึ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นอีกครั้งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถือเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ ที่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรูปแบบริ้วขบวนใหญ่ ผ่านการรับชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นภาพแห่งความประทับใจที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเฝ้ารอชมพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในรัชสมัยรัชากาลที่ ๑๐ และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
ในบริเวณ ชั้น M มีการจัดแสดง “ริ้วขบวนเรือพระราชพิธีจำลอง” เป็นการจำลองขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในรูปแบบริ้วขบวนใหญ่ พร้อมเนื้อหาประวัติความเป็นมาของเรือในพระราชพิธีจำนวนทั้ง ๕๒ ลำ โดยผู้เข้าชมสามารถรับชมเรือจำลองที่ถูกออกแบบอย่างประณีตและงดงามได้อย่างใกล้ชิด และได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่อลังการของริ้วขบวนเรือก่อนพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ ตุลาคมศกนี้
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ โดยมีเรือที่สำคัญ คือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรงเรือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือทรงผ้าไตร เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งทรงสำรอง ส่วนเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ถือเป็นเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น
สำหรับกำลังพลทหารประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จำนวน ๒,๒๐๐ นายเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ทั้งนี้ การจัดรูปแบบตามโบราณราชประเพณีทุกประการโดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ซึ่งริ้วขบวนสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรืออเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มี เรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองในพร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน ร่วมขบวนด้วย
“เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สำหรับเรือพระที่นั่งลำปัจจุบันเป็นเรือสร้างใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โขนเรือแกะสลักเป็นรูปหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทอง ประดับกระจก มีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก กลางลำเรือมีที่ประทับเรียกว่าราชบัลลังก์กัญญาสำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง ใช้กำลังพลรวม จำนวน ๗๑ นาย
“เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ หรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โขนเรือปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพญาอนันตนาคราช หรือพญานาค ๗ เศียร กลางลำเรือทอดบุษบกใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้ากฐินลำเรือภายนอกทาสีเขียวท้องเรือภายในทาสีแดง ใช้กำลังพลรวม จำนวน ๗๒ นาย
“เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙
โขนเรือจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง ๔ ทรงถือ จักร สังข์ คฑาและตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาคหรือครุฑจับนาค ๒ ตัวชูขึ้น ที่หัวเรือใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับใส่ปืนใหญ่
กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับลำเรือ ภายในเรือทาสีแดง ใช้กำลังพลรวม ๗๑ นาย
“เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์” เป็นเรือพระที่นั่งรอง สร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ใช้กำลังพลรวม ๘๒ นาย
ในส่วนของริ้วขบวนสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งทางด้านซ้ายและด้านขวามีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำและ ปิดท้ายสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ริ้วสายนอก ขนาบริ้วสายในด้านซ้ายและขวาประกอบด้วยเรือตั้ง และเรือแซงสายละ ๑๔ ลำ รวมทั้งสิ้น ๒๘ ลำ
ทั้งนี้ผู้ที่เข้าชมงานจะได้รับสูจิบัตรที่มีข้อมูลสำคัญต่างๆ ของขบวนเรือพระราชพิธีอย่างครบถ้วน และยังสามารถใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อชมภาพขบวนเรือพระราชพิธีเสมือจริงในรูปแบบจำลอง ๓ มิติ รวมถึงยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ เวิร์คช็อปสาธิตการร้อยมาลัย โดยนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ซึ่งแสดงการสร้างสรรค์ศิลปกรรมดอกไม้ผ่านงานเครื่องแขวนนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ รวมถึงกิจกรรมการประดับกระจกสีลวดลายเรือพระที่นั่ง โดยนักเรียนช่างสิบหมู่ ซึ่งเปิดให้ประชาชนที่สนใจ ร่วมกิจกรรมได้ฟรี ในวันเสาร์ที่ ๕,๑๒,๑๙ และ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. บริเวณพื้นที่นิทรรศการ ชั้น ๑
ร่วมภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ผ่านนิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ “ศิลปะบนผืนน้ำ” ได้ตั้งแต่ ๒๕ กันยายน - ๓๑ ตุลาคม ศกนี้ ณ บริเวณชั้น M และชั้น ๑ ไอคอนสยาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบริการข้อมูลไอคอนสยาม โทร.๑๓๓๘
Tags: นิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ศิลปะบนผืนน้ำ THEROYALBARGEPROCESSIONEXHIBITION ICONSIAM
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 03 ก.ค. 2024 | 2,874 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 28 เม.ย. 2024 | 3,118 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 08 มี.ค. 2024 | 3,082 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 06 ก.พ. 2024 | 4,403 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 29 ม.ค. 2024 | 5,250 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว | 24 ม.ค. 2024 | 4,441 อ่าน
รีวิวที่เที่ยว ที่เที่ยว | 22 ม.ค. 2024 | 7,727 อ่าน