0
0
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

90 เรื่องของ “ในหลวง” ที่คนไทยควรรู้

calendar_month 14 ต.ค. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 134,641 / ข่าวท่องเที่ยว

 

**เมื่อทรงพระเยาว์

 1. ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45น.(เวลาท้องถิ่น สหรัฐฯ)
 2. นายแพทย์ผู้ถวายการคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ มีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์
 3. พระนาม "ภูมิพล" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
 4. พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช
 5. ทรงมีชื่อเล่นว่า “เล็ก” หรือ “พระองค์เล็ก”
 6. เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนม์ 2 พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระชนกและสมเด็จพระชนนี
 7. ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างสามัญชนว่า "แม่"
 8. สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง
 9. แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม
 10. สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต
 11. สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่า "บ๊อบบี้"
 12. ทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำจะต้องลุกขึ้นบ่อยๆ
 13. สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที่  ในหลวงจะทรงต่อรองว่าทีเดียวก็พอ
 14. ระหว่างประทับอยู่สวิส  จะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศสกับสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระพระเจ้าพี่นางเธอฯ แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ
 16.ในหลวงทรงเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น  ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมันและลาติน

 15. ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า "กระป๋องคนจน" หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก "เก็บภาษี" หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

 16. ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆเขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าตอบว่า "ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน"

 17. กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา

 18. ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง


**ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ

 19. ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า "H.H Bhummibol Mahidol" หมายเลขประจำตัว 449

 20. ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์  แผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

 21. หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์   พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิสอีกครั้งเพื่อทรงศึกษาวิชาใหม่  คือกฎหมาย และการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์  ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์  ทรงศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ  เกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ  เพื่อเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชปรารภอยู่เสมอว่า ประเทศไทยของพระองค์ยังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ

 22.ในหลวงทรงเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น  ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมันและละติน

**พระอัจฉริยภาพ

 23. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก  “การเล่น” สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากทรงอยากได้ของเล่นอะไร ต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ทรงประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับสมเด็จพระเชษฐา เพื่อซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วทรงนำมาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง

 24. สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และแผนภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์

 25. ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด แต่ทรงโปรดแคลริเนท , แซกโซโพนและทรัมเป็ตมากที่สุดแต่เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ หีบเพลง (แอกคอร์เดียน)

 26. ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาทรงหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้

 27. ครูสอนดนตรีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส

 28. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ “แสงเทียน” จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง

 29. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง “เราสู้”

 30.วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2506  เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมทั้งทรงดนตรีเป็นครั้งแรกร่วมกับวง”อ.ส.วันศุกร์” ซึ่งมีอาจารย์และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมด้วย คือ ศ.ดร.ระพี สาคริก และนายอวบ เหมะรัชตะ

 31. ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านการช่าง  ซึ่งทรงโปรดหุ่นจำลองต่าง ๆ เช่นเรือใบเรือรบเป็นต้น ในคราวเสด็จนิวัตเมืองไทย  ตอนก่อนสงครามโลก ได้ทรงจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยาจนเป็นผลสำเร็จ  ครั้นแล้วเจ้าพระยารามราฆพก็ได้ทูลขอพระราชทานไปสำหรับให้พ่อค้าประชาชนได้ประมูลราคากันเพื่อเก็บเงินบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรค  ทรงถ่ายรูปไว้แล้วพระราชทานให้ไปตามประสงค์  ปรากฏว่า น.ส.เลอลักษณ์ เศรษฐบุตร ได้ประมูลซื้อไปเป็นเงินถึง  20,000 บาท อนึ่ง แม้แต่รูปเรือลำนั้นที่ทรงถ่ายโดยฝีพระหัตถ์ นายสหัส  มหาคุณ เป็นผู้ประมูลซื้อไปถึงรูปละ 3,000  บาท

 32. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉาย  เพื่อนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย

 33. พระราชนิพนธ์เรื่อง ”นายอินทร์” และ “ติโต” ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่เรื่องพระมหาชนกทรงพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

 34. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และเรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ”กีฬาซีเกมส์”) ครั้งที่ 4 ปี 2510

 35. ครั้งหนึ่งในหลวงทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่งและตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าว่า เสด็จกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน

 36. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ “กังหันชัยพัฒนา” เมื่อปี 2536

 37. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20ปีแล้ว

 38. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวาย รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง

**เรื่องส่วนพระองค์

 39. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ณ พระตำหนัก “วิลลาวัฒนา”  และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

 40.ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ในหลวงทรงพระราชทานของที่ระลึกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และพระญาติ คือ หีบเงินขนาดเล็กมีพระปรมาภิไธยคู่ปรากฏบนหีบนั้น

 41. หลังอภิเษกสมรส ทรงเสด็จ “ฮันนีมูน” ที่หัวหิน

 42. ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระนามเต็มของในหลวงคือ... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

 43.พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”

 44. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน

 45. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาและพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า(หม่อมราชวงศ์ชื่น  นพวงศ์ฉายา สุจิตฺโต ป.๗) วัดบวรนิเวศวิหาร

 46. ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา

 47. รหัสประจำพระองค์คือ 901

 48. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว  ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ

 49. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ


**พระราชกรณียกิจ

 50. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 4,447 โครงการ

 51. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่งคือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง(ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ

 52. ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้อราชการที่เข้าเฝ้าถวายงาน

 53. ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน

 54. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่ทรงหาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน

 55. ในเดือนพฤษภาคม 2495 เพียงสองปีหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยคต ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รถพระที่นั่งบุกตะลุยเข้าไปพื้นที่ ตามเส้นทางเกวียนอันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อจนตกหล่มลึก ชาวบ้านแถบนั้นต้องออกมาช่วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ยกรถพระที่นั่งพ้นจากหล่ม
        ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถามชาวบ้านที่มาช่วยยกรถพระที่นั่งที่ตกหล่มว่า “หมู่บ้านนี้ มีปัญหาอะไรบ้าง...” เมื่อชาวบ้านกราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่มีถนน ไม่นานต่อมา ชาวบ้านห้วยคตก็ได้เห็นตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรนำรถบูลโดเซอร์มาเกลี่ยผิวถนน และเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ชาวบ้านก็ได้ถนนพระราชทาน ที่ช่วยร่นระยะเวลา สามารถเดินทางมาถึงตลาดหัวหินได้ภายใน 20 นาที

 56. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัว ก็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

 57. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด

 58. ฯพณฯอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีได้อรรถาธิบายถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ว่าเป็น “พระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก” เพราะเป็นพระราชวังที่แวดล้อมด้วยการวิจัยและทดลองด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม มีทั้งโรงสีข้าว โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐาน และประยุกต์เพื่อการผลิตแบบครบวงจร

 59. ในหลวงของเรานั้นทรงพระปรีชาในหลายด้าน  ด้านกิจการโคนมก็เป็นอีกแขนงหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญและความสนใจเป็นพิเศษ  ด้วยทรงเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและประเทศไทย จึงได้ทรงทดลองเลี้ยงโคนมด้วยพระองค์เองในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อสาธิตการดำเนินงานให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังทรงริเริ่มให้มีการจัดตั้ง บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ดำเนินการผลิตนมผงใน พ.ศ. 2515 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการโคนมไทยจึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการโคนมไทย”

 60. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

 61. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง (20 กรกฎาคม 2549) ยังทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

 62. ทรงโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมราชประเพณีและเพื่อบำรุงขวัญกำลังใจให้เกษตรกร

 63. ตั้งแต่ปี2539 เป็นต้นมา ทรงพระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” เพื่อให้ราษฎรได้พึ่งพาตนเองได้

**พระราชจริยวัตร

 64. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา
 65. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก
 66. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง
 67. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งหลายครั้ง
 68. ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก
 69. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆ ในกทม.ไปที่ จส.100 ด้วย โดยใช้พระนามแฝง

 70. ทรงใช้พระนามเรียกขานทางข่ายวิทยุสื่อสารของศูนย์ควบคุมข่ายวิทยุอาสามัคร หรือ “ศูนย์สายลม” ของกรมไปรษณีย์โทรเลขว่า “VR009” อันเป็นนามเรียกขานที่กรมไปรษณีย์โทรเลขในสมัยนั้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในแต่ละข่ายวิทยุสื่อสารก็ทรงมีพระนามเรียกขานเป็นการเฉพาะในข่ายวิทยุสื่อสารนั้นๆ แตกต่างกันไป อาทิ กส.9, เดโชชัย 1 เป็นต้น

 71. ในคราวเกิดวาตภัยที่ตําบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2539 จัดเป็นอุบัติภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีนักวิทยุอาสาสมัครจํานวนหนึ่งได้เสียสละเดินทางออกไปช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยครั้งนั้นด้วยความเต็มใจ  เมื่อความได้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” และได้พระราชทานคําแนะนําวิธีการจัดข่ายการสื่อสารเฉพาะกิจดังกล่าว โดยให้นํารถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นสถานีวิทยุเคลื่อนที่ไปจอดปฏิบัติการในบริเวณจังหวัดราชบุรีโดยให้พิจารณาคัดเลือกสถานที่สูงๆ เพื่อเป็นสถานีถ่ายทอดข้อความการรายงานข่าวระหว่างนักวิทยุอาสาสมัครที่กําลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์กับศูนย์ควบคุม
 
 72. ตอนเช้าเมื่อตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่านนิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก

 73. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิม และฉลองพระบาทคู่เดิมเป็นเวลาหลายปี และเราจะสังเกตเห็นได้ว่าจะโปรดฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยอีกด้วย

 74. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อจนถึงปัจจุบัน

 75. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ

 76. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาลแล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว

 77. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพ ของพระองค์ว่า “ทำราชการ”

 78. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีพระชนม์เพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยมาตลอด

 79. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่า “อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก”

 80. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด

 81. หัวใจทรงเต้นไม่ปกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสมา ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิงติดต่อกันหลายปี

 82. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์

 83.ในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก โดยทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

 84.ในงานเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีพระราชวงศ์จากทั่วโลกเสด็จมาร่วมงาน 25 ราชวงศ์

 85. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค มีประชาชนเข้าชมรวม 6 ล้านคน

 86. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน

 87. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง
 88. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง
 89. ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง ให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด
 90. บ่อยครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และจะทรงหยุดรถ เพื่อลงไปเยี่ยมเยียนถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มารอรับเสด็จฯ
 
 ขอบคุณข้อมูลจาก Manager Online, TCEB


 
  



 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai